Smart Fabric

08.08.2561 | จำนวนผู้เข้าชม 12415

สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดตัว 9 ผู้ประกอบการ 10 โครงสร้างผ้า ผ่านการทดสอบฉลากคุณภาพหน้ากากผ้า Smart Fabricเร่งสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค พร้อมขยายศักยภาพด้านการวิเคราะห์ทดสอบ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในวิถีชีวิตแบบใหม่ New normalและรองรับ Medical Hub อาเซียน

(4มิ.ย.63) ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่า สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้ดำเนินงานการพัฒนา ฉลากคุณภาพสิ่งทอไทย Smart fabric หน้ากากผ้า ในช่วงสถานการณ์การแพร่กระจายของเชื้อไวรัส Covid-19 (เมษายน – พฤษภาคม 2563) มีผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม และกลุ่ม SMEs ให้ความสนใจส่งผ้าเข้าทดสอบเป็นจำนวนรวมกว่า 60 ราย เนื่องจากเห็นถึงความสำคัญ ความจำเป็นและความต้องการใช้หน้ากากผ้าของผู้บริโภคที่มากขึ้น โดยเฉพาะหน้ากากผ้าที่มีคุณภาพสามารถตรวจสอบแหล่งผลิตได้ ซึ่งถือเป็นความท้าทายเปลี่ยนวิกฤตสถานการณ์ดังกล่าว ให้เป็นโอกาสทางการตลาดของกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ และการปรับตัวพัฒนาผลิตภัณฑ์รองรับวิถีชีวิตแบบใหม่ New normal โดยผลปรากฏว่า มีผู้ประกอบการผ่านการทดสอบจำนวน 9 ราย รวม 10 โครงสร้างผ้า พร้อมส่งผลสรุปเพื่อขออนุมัติความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารเครื่องหมายคุณภาพสิ่งทอไทย โดยอนุญาตให้ใช้ ตราสัญลักษณ์ Smart fabric หน้ากากผ้าได้ ประกอบไปด้วย
1.บริษัท อินเนอซิส จำกัด      
ชื่อรุ่น Air Protex     
2.บริษัท เช็พเอิด จำกัด        
ชื่อรุ่น MEDMASK
3.บริษัท วาย.อาร์.ซี.เท็กซ์ไทล์ จำกัด   
1) PRO FABRIC  และ  2) PRO+ FABRIC
4.บริษัท พาลาดิน เวิร์คแวร์ จำกัด  
ชื่อรุ่น หน้ากากผ้าซักได้ BLUE BEARรุ่น 3D BAMBOO PERMA
5.บริษัท สิ่งทอซาติน จำกัด  
ชื่อรุ่น ICECUBE
6.บริษัท อจินไตย จำกัด 
ชื่อรุ่น HUKS CLOTH MASK
7.บริษัท อุตสาหกรรมไหมไทย จำกัด 
ชื่อรุ่น FACE MASK
8.บริษัท แอลฟ่า โปรเซสซิ่ง จำกัด (2 โครงสร้างผ้า) 
ชื่อรุ่น 1) MEECA TECHNO MASK 3D PLUSFILTER   2) MEECA TECHNO MASK 3D
9.บริษัท โอเรียนตอล การ์เมนท์ จำกัด  
ชื่อรุ่น 1) EASY MASKและ 2) SMART MASK


สำหรับคุณสมบัติของหน้ากากผ้า Smart fabricคือ สามารถซัก และใช้ซ้ำได้ มีประสิทธิภาพในการคัดกรองและ ป้องกัน ฝุ่น ละอองไอจาม สารคัดหลั่ง ขนาดเล็กกว่า 0.3 ไมครอน สวมใส่สบายหายใจได้ ปราศจากสารเคมีตกค้างและสารก่อมะเร็ง และหากเสริมด้วยคุณสมบัติพิเศษสะท้อนน้ำ ก็จะสร้างความมั่นใจอีกขั้นหนึ่งของการสวมใส่
 
ทั้งนี้ โดยในช่วงระหว่างการดำเนินงาน พบว่ามีการทดสอบบางหัวข้อต้องส่งไปทดสอบยังต่างประเทศ เพื่อให้ผลลัพธ์มีความเที่ยงตรงและแม่นยำมากที่สุด ประกอบกับเครื่องมือการทดสอบในประเทศไม่เพียงพอสถาบันฯ สิ่งทอ จึงได้เสนอเรื่องเพื่อขออนุมัติงบลงทุนเพิ่มจาก คณะกรรมการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ในการจัดหาเครื่องมือเพื่อให้การบริการทดสอบขยายขอบข่ายมากขึ้น รวมทั้งการพัฒนาสิ่งทอสถานพยาบาล สำหรับผู้ประกอบการสิ่งทอ และบุคลากรทางการแพทย์สามารถจัดหาอุปกรณ์ป้องกันได้ภายในประเทศ ประกอบไปด้วย

1. เครื่องทดสอบประสิทธิภาพการกรองแบคทีเรียของหน้ากากอนามัย(Bacterial & Viral Fitration Efficiency : BFE / VFE)
2. เครื่องทดสอบประสิทธิภาพการกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กของหน้ากากอนามัย (Partical Fitration Efficiency : PFE)
3. เครื่องทดสอบการผ่านได้ของเลือดสังเคราะห์ (Synthetic Blood Penetration for liquid Barriers)
4. เครื่องทดสอบการหายใจได้ของหน้ากาก (Differential pressur) 
5. เครื่องทดสอบการผ่านได้ของเลือดสังเคราะห์และไวรัสของชุดป้องกันทางการแพทย์ (Synthetic blood Penetration and Viral Penetration)

การขยายขอบข่ายดังกล่าวจะนำมาซึ่งการรับรองมาตรฐานที่เพิ่มมากขึ้น สร้างโอกาสเติบโตให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย ให้สามารถเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอในมิติ เพื่อการปกป้อง การดูแลสุขภาพ หรือสิ่งทอทางการแพทย์ รองรับอุตสาหกรรม New S curve และรองรับ ไลฟ์สไตล์การดำเนินชีวิตในวิถีแบบใหม่ (New normal) ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในประเทศให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยคนไทย ลดการนำเข้า พร้อมผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิต และ Medical Hub ของอาเซียน

หากผู้ประกอบการท่านใดสนใจทดสอบผลิตภัณฑ์ และหน้ากากผ้า Smart fabric สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หน่วยบริการ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ  โทร. 0 2713 5492 – 9 ต่อ 512-4 , 712 หรือดูรายละเอียดได้ที่
www.thaitextile.org/smartfabric  facebook : Thailand Textile Institute


************************

 

25 มีนาคม 2563  สถาบันฯสิ่งทอเปิดตัวฉลากคุณภาพหน้ากากผ้า Smart Fabricเพื่อภาคประชาชน เร่งสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในการสวมใส่

สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ออกฉลากคุณภาพหน้ากากผ้า Smart Fabric ดึงเกณฑ์มาตรฐานสากล ประยุกต์พัฒนาหลักเกณฑ์ เน้นการดักจับฝุ่นและละอองไอจาม การซึมผ่านได้ของอากาศ ความคงทนของสี คุณภาพของสีที่ใช้ย้อมรวมทั้งผ้าที่ใช้ต้องไม่เป็นสารก่อมะเร็ง รวม 5 เกณฑ์หลักสำคัญ และฟังก์ชั่นเสริมเพิ่มการสะท้อนน้ำ รับรองและตรวจสอบโดยสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม

(25 มี.ค.63) ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอเปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสCovid-19 ในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบให้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ และหน้ากากอนามัยทั่วไป ที่ใช้วัสดุชนิด ผ้าไม่ทอ ไม่ถักที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Non woven) มีความต้องการใช้สูง มีราคาสูงขึ้นและขาดตลาด ส่งผลให้ประชาชนหันมาใช้หน้ากากผ้าซึ่งเป็นวัสดุทางเลือก และเกิดความต้องการอย่างทวีคูณ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ในฐานะหน่วยงานเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม มีภารกิจสนับสนุนและส่งเสริมองค์ความรู้ในด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้จัดเสวนากลุ่ม (Focus group) โดยเชิญหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมสิ่งทอ รวมทั้งสมาคม และสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมหารือทิศทางการพัฒนาเกณฑ์ข้อกำหนดประสิทธิภาพหน้ากากผ้าสำหรับภาคประชาชน เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563เพื่อเสนอคณะกรรมการบริหารเครื่องหมายคุณภาพสิ่งทอไทย โดยคณะกรรมการได้มีมติเห็นชอบในหลักเกณฑ์และอนุมัติให้ใช้เครื่องหมาย Smart Fabric หน้ากากผ้าเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563  โดยต้องผ่านการทดสอบและมีประสิทธิภาพสามารถใช้งานซ้ำและผ่านการซักล้างอย่างน้อย 10 ครั้งขึ้นไป ดังนี้
1.สามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก 0.3 ไมครอน ไม่น้อยกว่า 65%โดยคุณสมบัติดังกล่าวยังสามารถกัน PM 2.5 ได้ (หัวข้อทดสอบSub-micron particulate filtration efficiency at 0.5 micronโดยข้อกำหนดด้านประสิทธิภาพ คือ >65%)
2.การซึมผ่านได้ของอากาศ (1 – 50 ซีซี ต่อพื้นที่ตารางเซนติเมตรต่อวินาที) โดยหากอากาศยิ่งผ่านได้มากประสิทธิภาพการป้องกันฝุ่นละอองไอจามก็จะยิ่งน้อย (หัวข้อทดสอบการผ่านได้ของอากาศ โดยข้อกำหนดด้านประสิทธิภาพ คือ 1 < X <50)
3.ความคงทนของสีต่อการซักอยู่ระดับปานกลาง (หัวข้อการทดสอบความคงทนของสีต่อการซัก อ้างอิงมาตรฐานสากลโดยใช้เกณฑ์ลำดับที่ 1 สีตกมาก จนถึงลำดับที่ 5 คือสีไม่ตกเลย) โดยข้อกำหนดด้านประสิทธิภาพคือ >3
4.คุณภาพของสีสารเคมีที่ใช้ย้อมต้องปลอดภัย (หัวข้อการทดสอบ ปริมาณสีเอโซ)

5.คุณภาพผ้าต้องปลอดภัยไม่มีสารก่อมะเร็ง (หัวข้อการทดสอบฟอร์มัลดีไฮด์)
ฟังก์ชั่นเสริมเพิ่มการสะท้อนน้ำ เพื่อสร้างความมั่นใจอีกหนึ่งขั้นของการสวมใส่ (หัวข้อการทดสอบการสะท้อนน้ำ)
 
“โดยจะมีกระบวนการทดสอบและตรวจสอบสถานที่ผลิต สุ่มตัวอย่าง จะใช้เวลาประมาณ 7 วันทำการ เมื่อผู้ประกอบการได้ทดสอบผ่านหลักเกณฑ์ดังกล่าว และได้รับการอนุมัติให้ใช้สัญลักษณ์คุณภาพ Smart Fabric ผู้ประกอบการมีสิทธิ์ในการใช้ป้ายแขวน (Hang tag)Smart Fabricแสดงการทดสอบและคุณสมบัติพิเศษที่ได้ผ่านการรับรอง บนผลิตภัณฑ์หน้ากากผ้า หรือบนบรรจุภัณฑ์ แผ่นโฆษณา และการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์บนสื่อต่าง ๆ ได้ เพื่อเป็นการสื่อสารถึงผู้บริโภค และสร้างความเชื่อมั่นในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์หน้ากากผ้าที่มีความปลอดภัย โดยทันทีที่ผลการทดสอบออกสถาบันฯ จะเร่งประชาสัมพันธ์เผยแพร่ใน เวปไซต์
www.thaitextile.org  facebook : Thailand Textile Institute ซึ่งเป็นช่องทางหลัก รวมทั้งช่องทางอื่น ๆ” ดร.ชาญชัย กล่าว
สำหรับสัญลักษณ์คุณภาพ Smart Fabricเป็นสัญลักษณ์ภาคสมัครใจ และได้พัฒนาต่อยอดจากข้อแนะนำคุณลักษณะผ้าที่ใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัยสำหรับประชาชนเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคติดเชื่อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา  สถาบันฯสิ่งทอ จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการ นำผ้าที่จะนำไปผลิตหน้ากากมาทดสอบ เพื่อสร้างความมั่นใจต่อประชาชน ว่าจะมีความปลอดภัยต่อผู้สวมใส่ ไม่ส่งผลต่อสุขภาพในอนาคต โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หน่วยบริการ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ โทร. 0 2713 5492 – 9 ต่อ 512-4 , 712 หรือดูรายละเอียดได้ที่
www.thaitextile.org/smartfabric   

และดาวน์โหลดรายละเอียด Presentation เรื่องหน้ากากผ้าที่ได้นำเสนอผ่าน Facebook live เมื่อวันที่ 25 มี.ค.63 ที่ผ่านได้ที่ https://www.thaitextile.org/th/service/downloadcmssrc.preview.248.html


เกณฑ์การทดสอบประสิทธิภาพ ฉลากคุณภาพหน้ากากผ้า


จุดเริ่มต้น
โครงการพัฒนาเครื่องหมายคุณภาพสิ่งทอไทย

สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้ริเริ่มโครงการพัฒนาเครื่องหมายคุณภาพสิ่งทอไทยขึ้น และดำเนินการกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เพื่อตอบสนองการบริโภคสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในปัจจุบัน ที่หันมามุ่งเน้นเรื่องคุณภาพโดยเฉพาะมาตรฐานด้านความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงในการผลิต เช่น สิ่งทอสมบัติพิเศษ (functional textile)

โครงการฯ จัดให้มีเครื่องหมายคุณภาพสิ่งทอไทย จำนวน 4 ฉลาก ดังนี้ คือ ฉลากคุณภาพสิ่งทอ ฉลากคุณภาพสิ่งทอที่มีสมบัติพิเศษ ฉลากคุณภาพสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และฉลากคุณภาพสิ่งทอที่มีสมบัติพิเศษและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ฉลากทั้ง 4 นี้ สามารถออกให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าผืน เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องแต่งกายและเคหะสิ่งทอ (ยกเว้นพรมอุตสาหกรรม) ที่ผ่านหลักเกณฑ์การตรวจสอบผลิตภัณฑ์และการตรวจสอบสถานที่ตามประกาศของโครงการฯ และได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารเครื่องหมายคุณภาพสิ่งทอไทย


สำหรับผู้ประกอบการสิ่งทอการมีเครื่องหมายคุณภาพสิ่งทอไทยปรากฏอยู่บนผลิตภัณฑ์เป็นการสร้างจุดขายให้กับสินค้าและเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันทางการตลาด เนื่องจากผู้ซื้อมีความมั่นใจในคุณภาพและเห็นถึงความแตกต่างของลักษณะคุณภาพพิเศษและความปลอดภัยในสินค้าประเภทเดียวกัน อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ในส่วนของผู้บริโภค เครื่องหมายคุณภาพสิ่งทอไทยเป็นตัวช่วยชี้บ่งให้สามารถเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยได้สะดวกมากขึ้น


ดาวน์โหลดรายละเอียดโครงการ

สิ่งทอ บริการ THTI