หน้าแรก / บริการ THTI / ศูนย์วิเคราะห์ทดสอบสิ่งทอ / ศูนย์วิเคราะห์ทดสอบสิ่งทอ

ศูนย์วิเคราะห์ทดสอบสิ่งทอ

23.03.2561 | จำนวนผู้เข้าชม 8469

ศูนย์วิเคราะห์ทดสอบสิ่งทอ เป็นหน่วยงานหนึ่งภายใต้สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ จัดตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2542 โดยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจาก ส่วนอุตสาหกรรมสิ่งทอ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อเป็นห้องปฏิบัติการทดสอบสิ่งทอที่เป็นกลางให้กับผู้ประกอบการด้านสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และผู้ส่งออกสิ่งทอของประเทศไทย สามารถให้บริการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพสิ่งทอตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำตามมาตรฐานสากล เช่น ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมัน รวมทั้งมาตรฐานของไทย ได้แก่ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(มอก.) และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน(มผช.)

นอกจากงานบริการทดสอบแล้ว ศูนย์วิเคราะห์ฯยังให้บริการฝึกอบรมการทดสอบเชิงปฏิบัติการ ให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอ การทดสอบสิ่งทอ ระบบมาตรฐานการจัดการคุณภาพ ISO/IEC 17025 ของห้องปฏิบัติการในโรงงาน  และสนับสนุนการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม

ปัจจุบันศูนย์วิเคราะห์ฯ มุ่งเน้นให้คุณภาพมาตรฐานการบริการห้องปฏิบัติการทดสอบเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยศูนย์วิเคราะห์ฯ ได้รับการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบมาตรฐาน ISO/IEC 17025 จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ใน 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ คือ สิ่งทอ สีย้อมและของเล่น ซึ่งได้รับการรับรองไม่น้อยกว่า 40 รายการ 90 มาตรฐาน รายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://app.tisi.go.th/lab/testing/test110t.html

นอกจากนี้เพื่อการบริการอย่างรวดเร็ว ถูกต้อง ศูนย์ฯจึงนำระบบบริหารจัดการข้อมูลห้องปฏิบัติการ Laboratory Information Management System (LIMS)มาใช้ในระบบอีกด้วย


ISO-17025

ศูนย์วิเคราะห์ทดสอบสิ่งทอ เริ่มดำเนินการจัดทำระบบคุณภาพมาตรฐาน ISO / IEC 17025 เมื่อปี พ.ศ. 2544 โดยเริ่มจัดทำระบบดังกล่าวนี้ในห้องปฏิบัติการเคมีวิเคราะห์ ในรายการทดสอบฟอร์มาลดีไฮด์ หลังจากรับมอบห้องปฏิบัติการจากส่วนอุตสาหกรรมสิ่งทอ เมื่อปี พ.ศ. 2545 ศูนย์วิเคราะห์ฯ ได้ขยายขอบข่ายการจัดทำระบบคุณภาพมาตรฐานไปยังรายการทดสอบของห้องปฏิบัติการสิ่งทอและห้องปฏิบัติการเคมีวิเคราะห์

ศูนย์วิเคราะห์ฯ ได้ให้ความสำคัญกับการจัดทำระบบคุณภาพมาตรฐาน ISO / IEC 17025 จึงได้แต่งตั้งผู้จัดการด้านคุณภาพและคณะทำงานด้านวิชาการขึ้นตามข้อกำหนด เพื่อร่วมกันจัดทำระบบและนำระบบไปปฏิบัติใช้ให้เกิดประสิทธิผล ซึ่งผู้จัดการด้านคุณภาพจะเป็นผู้ดูแลภาพรวมของระบบและคณะทำงานด้านวิชาการเป็นผู้รับผิดชอบความถูกต้องทางด้านวิชาการต่างๆ ตามที่กำหนดไว้

นอกจากบุคลากรสำคัญตามข้อกำหนดที่ได้กล่าวมาแล้วศูนย์วิเคราะห์ฯ ยังตระหนักถึงความมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่ทุกคนในศูนย์วิเคราะห์ฯ ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องและมีความสำคัญกับระบบทั้งสิ้น ดังนั้น ศูนย์วิเคราะห์ฯ จึงได้กำหนดมาตรการขึ้น ซึ่งเป็นมาตรการเพื่อให้เกิดความรับผิดชอบและวัฒนธรรมในการทำงานของศูนย์วิเคราะห์ฯ ในการพัฒนาระบบ ดังนี้

  1. ไม่กระทำการใด ๆ ที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด เช่น ไม่เปิดเผยความลับลูกค้า ไม่แก้ไขเอกสารเองโดยไม่ได้รับการอนุมัติ เป็นต้น
  2. ไม่ติดต่อกับผู้ใช้บริการโดยตรง ถ้าไม่จำเป็น หรือ ไม่มีหน้าที่ได้รับมอบหมายโดยตรง
  3. ไม่นำเอกสารและข้อมูลในระบบไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต
  4. ปฏิบัติตามแนวทางของเอกสารในระบบที่เกี่ยวข้อง (เช่น ระเบียบปฏิบัติ วิธีปฏิบัติงาน เป็นต้น) อย่างเคร่งครัด
  5. ปฏิบัติตาม ใบบรรยายลักษณะงาน (job description) ในระบบตามที่ได้รับมอบหมาย
  6. ให้ความร่วมมือและสนใย ตรวจติดตามระบบคุณภาพ ตรวจติดตามระบบคุณภาพ ให้ทันสมัย ตรงตามความต้องการของผู้ใช้บริการ
  7. ดูแลรักษาอุปกรณ์และเครื่องมือที่อยู่ในความรับผิดชอบอย่างสม่ำเสมอและใช้งานเครื่องมือและอุปกรณ์ด้วยความระมัดระวังและถูกต้อง โดยไม่ให้ได้รับความเสียหาย
  8. ใช้อุปกรณ์ วัสดุสิ้นเปลือง สารเคมี อย่างมีประสิทธิภาพ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
  9. มีความคิดริเริ่ม ปรับปรุง พัฒนางานที่รับผิดชอบอย่างสอดคล้องกับข้อกำหนด
  10. มีความพร้อมในการถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้กับผู้เกี่ยวข้องทั้งในฐานะผู้รับและผู้ให้

จากความทุ่มเทดังกล่าว ศูนย์วิเคราะห์ฯ มีความมุ่งมั่นในการได้รับการรับรอง เพราะนอกจากจะทำให้ศูนย์วิเคราะห์ฯ มีการดำเนินงานที่ดีและมีการพัฒนา ปรับปรุงอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังทำให้ศูนย์วิเคราะห์ฯ เป็นที่น่าเชื่อถือและยอมรับทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ เป็นการส่งเสริมภาพพจน์ของห้องปฏิบัติการอีกทางหนึ่งด้วย

หัวข้อที่ได้รับการรับรอง ตามที่ปรากฎใน website ของ สมอ.

-