หน้าแรก / THTI Insight / ข้อมูล นำเข้า-ส่งออก / สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย เดือนมกราคม-พฤศจิกายน ปี 2565

สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย เดือนมกราคม-พฤศจิกายน ปี 2565

กลับหน้าหลัก
11.01.2566 | จำนวนผู้เข้าชม 341

สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย เดือนมกราคม-พฤศจิกายน ปี 2565

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71* ในช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน ปี 2565 ขยายตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี2564 ที่มีมูลค่า 9,215.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่14,489.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.46 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ หากนำมูลค่าดังกล่าวข้างต้นหักออก ด้วยการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 7,466.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 34.02 อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) รายเดือน พบว่า เดือนพฤศจิกายน 2565 หดตัวลงร้อยละ 0.12 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2565

 ตารางที่ 1  มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน ปี 2564 และปี 2565

 ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

สถานการณ์การส่งออก

สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดในรอบ 11 เดือนของปีนี้ คือ ทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป โดยมีสัดส่วนร้อยละ 48.47 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยโดยรวม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 92.73 โดยราคาทองคำเฉลี่ยของตลาดโลกในเดือนพฤศจิกายนกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม มาอยู่ที่ระดับ 1,726.45 ดอลลาร์ สหรัฐต่อออนซ์ (https://www.kitco.com) เนื่องจากปัจจัยที่ เกี่ยวข้องอย่างอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ เดือนตุลาคมต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อทิศทางเงินเฟ้อที่จะปรับตัวดีขึ้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวลดลง ขณะที่เงินดอลลาร์สหรัฐมีทิศทางอ่อนค่าลงต่อเนื่อง อีกทั้งรายงานการประชุมคณะกรรมการเฟดเปิดเผยว่า จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 0.75 เป็นร้อยละ 0.50 ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตลอดเดือน พฤศจิกายน นอกจากนี้ ช่วงเทศกาลปลายปีถึงต้นปีเป็นช่วงที่ราคาทองปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ มีข้อมูลจาก World Gold Council คาดการณ์ว่ามีหลายปัจจัยที่ส่งผลเชิงบวกต่อราคา ทองคำทั้งการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการลงทุนในทองคำเพื่อป้องกันความเสี่ยงยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ในระยะสั้นราคาทองคำจึงมีแนวโน้มเป็นขาขึ้นจากปัจจัยดังกล่าว

เครื่องประดับแท้ เป็นสินค้าส่งออกในอันดับ 2 ใน สัดส่วนร้อยละ 26.26 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและ เครื่องประดับไทย มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.55 โดยสินค้าส่งออกหลัก คือ เครื่องประดับทองที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.32 เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดหลักทั้ง 5 อันดับ อย่าง สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง สหราชอาณาจักร สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสิงคโปร์สามารถเติบโตได้ร้อยละ 28.70, ร้อยละ 53.07, ร้อยละ 50.21, ร้อยละ 34.43 และร้อยละ 343.70 ตามลำดับ การส่งออกเครื่องประดับเงิน ปรับตัวขึ้นร้อยละ 3.12 จากการส่งออกไปยังตลาดสำคัญในอันดับที่ 3 และ 5 อย่างสหราชอาณาจักรและอินเดีย ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.85 และร้อยละ 324.08 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดอันดับ 1, 2 และ 4 อย่างสหรัฐอเมริกา เยอรมนี และออสเตรเลีย ปรับตัวลงร้อยละ 9.18 ร้อยละ 1.50 และร้อยละ 0.85 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกเครื่องประดับแพลทินัม ขยายตัวได้ร้อยละ 9.85 เนื่องจากการส่งออกไปยังสิงคโปร์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และ ฮ่องกง ตลาดในอันดับที่ 1-4 สูงขึ้นร้อยละ 1.39, ร้อยละ 3.34, ร้อยละ 6.31 และร้อยละ 45.39 ตามลำดับ ส่วนสหราชอาณาจักร ตลาดอันดับที่ 5 หดตัวลงร้อยละ 33.06

เพชร เป็นสินค้าส่งออกรายการสำคัญในอันดับ 3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.47 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณี และเครื่องประดับไทย มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 49.64 โดย เพชรเจียระไนเป็นสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้ เติบโตร้อยละ 50.19 จากการส่งออกไปยังตลาดทั้ง 5 อันดับแรก อย่างอินเดีย ฮ่องกง เบลเยียม สหรัฐอเมริกา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 81.59, ร้อยละ 12.30, ร้อยละ 29.63, ร้อยละ 85.32 และร้อยละ 14.22 ตามลำดับ

พลอยสี เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 4 มีสัดส่วนร้อยละ 7.68 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทย ขยายตัวได้ร้อยละ 78.37 โดยสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้ เป็นพลอยเนื้อแข็งเจียระไน (ทับทิม แซปไฟร์ และมรกต) ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 73.94 เป็นผลจากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ และอิตาลีตลาดใน 5 อันดับแรก ล้วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 86.63, ร้อยละ 22.96, ร้อยละ 190.44, ร้อยละ 995.97 และร้อยละ 49.33 ตามลำดับ ส่วนพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 99.89 เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดหลักใน 5 อันดับแรก อย่างสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ และอินเดีย ได้สูงขึ้นร้อยละ 151.75, ร้อยละ 68.04, ร้อยละ 1,031.10, ร้อยละ 77.52 และ ร้อยละ 261.66 ตามลำดับ

เครื่องประดับเทียม เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.01 เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.71 จากการส่งออกไปยังตลาดสำคัญทั้ง 5 อันดับแรก คือ สหรัฐอเมริกา ลิกเตนสไตน์ ฮ่องกง ฝรั่งเศส และสิงคโปร์ ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.75, ร้อยละ 49.98, ร้อยละ 5.96, ร้อยละ 15.51 และร้อยละ 39.09 ตามลำดับ

มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วงมกราคม-พฤศจิกายนของปี 2565 เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.02 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยได้รับแรงหนุนจากช่วง 3 ไตรมาสแรกที่มีแรงซื้อเข้ามามาก อย่างไรก็ตาม เริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวนับตั้งแต่เดือนตุลาคม อันเนื่องมาจากผลกระทบของปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก มีสัญญาณอุปสงค์โลกชะลอตัวลง สะท้อนจากดัชนี Manufacturing PMI ของประเทศเศรษฐกิจสำคัญหลายประเทศที่ปรับตัวลดลง รวมทั้งค่าเงินบาทที่เริ่มกลับมาแข็งค่ามากขึ้น ขณะที่ยังมีปัจจัยสนับสนุนการส่งออกอย่างอัตราเงินเฟ้อและราคาสินค้าในหลายประเทศเริ่มปรับตัวลง อีกทั้งเข้าสู่ช่วงเทศกาลจับจ่ายใช้สอยปลายปีต่อเนื่องถึงต้นปีเข้ามากระตุ้นการบริโภค ทำให้การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยทั้ง 10 อันดับแรก อย่างสหรัฐอเมริกา อินเดีย ฮ่องกง เยอรมนี สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และญี่ปุ่น ล้วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.60, ร้อยละ 91.61, ร้อยละ 19.04, ร้อยละ 4.34, ร้อยละ 36.67, ร้อยละ 159.95, ร้อยละ 82.48, ร้อยละ 34.76, ร้อยละ 32.84 และร้อยละ 9.11 ตามลำดับ

 ตารางที่ 2 มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยรายสินค้าในช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน ปี 2564 และปี 2565

 ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

มูลค่าการส่งออกไปยัง สหรัฐอเมริกา ยังขยายตัวได้ดี จากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการอย่างเครื่องประดับทอง เพชร เจียระไน พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.70, ร้อยละ 85.32, ร้อยละ 86.63 และร้อยละ 151.75 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับเงินปรับตัวลดลงร้อยละ 9.18 

มูลค่าการส่งออกไปยัง อินเดีย สามารถเติบโตได้ เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเพชรเจียระไน (ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 69) รวมทั้งสินค้าลำดับรองลงมาอย่างเครื่องประดับเงิน พลอยเนื้อแข็ง และเนื้ออ่อนเจียระไน ได้สูงขึ้นร้อยละ 81.59, ร้อยละ 324.08, ร้อยละ 159.87 และร้อยละ 261.66 ตามลำดับ มีเพียงโลหะเงินที่ หดตัวลงร้อยละ 11.78 

สำหรับการส่งออกไป ฮ่องกง ซึ่งเพิ่มขึ้นนั้น มาจากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการอย่างเพชรเจียระไน เครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเทียม ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.30, ร้อยละ 53.07, ร้อยละ 22.96, ร้อยละ 68.04 และร้อยละ 5.96 ตามลำดับ 

ขณะที่การส่งออกไปยัง เยอรมนี ที่มีมูลค่าสูงขึ้น เป็นผลจากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการอย่างเศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า เครื่องประดับทอง รวมทั้งพลอยเนื้อแข็งและ เนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเทียมล้วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.75, ร้อยละ 57.93, ร้อยละ 144.92, ร้อยละ 39.48 และร้อยละ 6.38 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับเงิน ปรับตัวลงร้อยละ 1.50

ขณะที่การส่งออกไป สหราชอาณาจักร ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นนั้น มาจากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการ อย่างเครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเทียม ล้วนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.85, ร้อยละ 50.21, ร้อยละ 75.47, ร้อยละ 254.21 และร้อยละ 5.15 ตามลำดับ

การส่งออกไป สิงคโปร์ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นนั้น ได้รับผลจากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการที่เติบโตขึ้น ทั้งเครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับแพลทินัม ได้สูงขึ้นร้อยละ 343.70, ร้อยละ 995.97, ร้อยละ 1,031.10 และร้อยละ 1.39 ตามลำดับ โดยเป็นผลจากการส่งออกไปในงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในเดือนกันยายนทำให้ ยอดรวมในรอบ 11 เดือน สูงเป็นประวัติการณ์ 

ขณะที่การส่งออกไปยัง สวิตเซอร์แลนด์ ที่สูงขึ้นนั้น เนื่องจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน โลหะเงิน และเครื่องประดับทอง ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 190.44, ร้อยละ 77.52, ร้อยละ 7.12 และร้อยละ 136.36 ตามลำดับ

ส่วนการส่งออกไปยัง เบลเยียม ขยายตัวได้มาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเพชรเจียระไน (ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 83) ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.63 รวมทั้งสินค้าลำดับถัดมาอย่างพลอยเนื้อแข็งเจียระไน เครื่องประดับเทียม และเครื่องประดับทอง ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.82, ร้อยละ 841.69 และร้อยละ 22.65 ตามลำดับ 

สำหรับการส่งออกไปยัง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้นั้น มาจากการส่งออกเครื่องประดับทอง เพชรเจียระไน พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ล้วนเติบโตได้ดีร้อยละ 34.43, ร้อยละ 14.22, ร้อยละ 37.65 และร้อยละ 404.79 ตามลำดับ

การส่งออกไปยัง ญี่ปุ่น ซึ่งเพิ่มขึ้นนั้น เนื่องจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับทอง เครื่องประดับแพลทินัม เพชร เจียระไน และเครื่องประดับเงิน ขยายตัวได้ร้อยละ 11.87, ร้อยละ 3.34, ร้อยละ 11.11 และร้อยละ 14.74 ตามลำดับ

แผนภาพที่ 1 ตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน ปี 2565

ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

บทสรุป

มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ในช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายนปีนี้ มีมูลค่าสูงขึ้นร้อยละ 57.24 แต่หากพิจารณาถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย เมื่อไม่รวมการส่งออกทองคำ พบว่า ขยายตัวได้ร้อยละ 34.02 และหากพิจารณาถึงมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เมื่อหักออกด้วยมูลค่าการส่งออกทองคำและมูลค่าสินค้าส่งกลับจากต่างประเทศ พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสุทธิเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.43 มีรายละเอียดดังตารางที่ 3

 ตารางที่ 3 มูลค่าการส่งออกสุทธิของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน ปี 2564 และปี 2565

 ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงของไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วง 11 เดือนของปีนี้ ยอดรวมยังเติบโตได้สูงกว่าปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยเกื้อหนุนอย่างอัตราเงินเฟ้อและราคาสินค้าในหลายประเทศเริ่มชะลอตัวลง ค่าขนส่งสินค้าในหลายเส้นทางทั่วโลกปรับลดลง และเป็นช่วงเทศกาลจับจ่ายใช้สอยต่อเนื่องปลายปี 2565 ถึงต้นปี 2566 จึงเป็นปัจจัยหนุนที่ช่วยให้มีคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง สำหรับสินค้าที่มีความโดดเด่นของไทย คือ เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับเทียม รวมทั้ง เพชรเจียระไน พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน 

ในภาพรวมนั้น เศรษฐกิจโลกในช่วง 11 เดือนของปี 2565 ได้รับผลกระทบจากปัจจัยรุมเร้าหลายประการ ทั้งปัญหาทางเศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ประเมินเศรษฐกิจโลกในปี 2566 ว่า จะขยายตัวลดลงจากปี 2565 เหลือ 2.7% ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจของประเทศสำคัญในโลก ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และจีน เติบโตได้ลดลงจากการเกิดภาวะเงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูงขึ้น และปัญหาการกลับมาระบาดของโควิด-19 จนทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ไม่ดีเท่าที่ควร แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น

ทั้งนี้แม้ว่าสถานการณ์ส่งออกในรอบ 11 เดือนแรกของปีนี้ สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่ยังสามารถเติบโตได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการควรระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากการเติบโตในปี2566 อาจขาดปัจจัยหนุนส่งทำให้เติบโตได้ลดลง อีกทั้งต้องเตรียมความพร้อมรับมือมาตรการ CBAM (มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป) รวมทั้งมาตรการที่เกี่ยวข้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและการรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งฝั่งสหรัฐฯ และยุโรปให้ความสำคัญมาก อาจก่อให้เกิดมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีได

ศูนยข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

มกราคม 2566


*พิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71 ว่าด้วย “ไข่มุกธรรมชาติหรือไข่มุกเลี้ยง รัตนชาติหรือกึ่งรัตนชาติ โลหะมีค่า โลหะที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า และของที่ทำด้วยของดังกล่าว เครื่องเพชรพลอย และรูปพรรณที่เป็นของเทียม เหรียญกษาปณ์”

นำเข้าส่งออกอัญมณี, อุตสาหกรรม, อัญมณีและเครื่องประดับ, GIT, สถานการณ์, การส่งออก, Export, ปี 2565, สะสม 11 เดือน, มกราคม-พฤศจิกายน, พฤศจิกายน 2565, GIT Information Center