หน้าแรก / THTI Insight / ข้อมูล นำเข้า-ส่งออก / สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ปี 2564

สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ปี 2564

กลับหน้าหลัก
22.04.2564 | จำนวนผู้เข้าชม 1202

สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ปี 2564

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71* ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ปี 2564 ปรับตัวลดลงร้อยละ 72.39 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 3,741.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (112,419.07 ล้านบาท) มาอยู่ที่ 1,032.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (30,758.12 ล้านบาท) โดยเป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 10 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.59 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ หากนำมูลค่าดังกล่าวข้างต้นหักออกด้วยการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 816.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (24,317.46 ล้านบาท) ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 27.43

ตารางที่ 1 มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ปี 2563 และปี 2564

ที่มา: กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

สถานการณ์การส่งออก

สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ คือ เครื่องประดับแท้ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 41.73 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย หากแต่มีมูลค่าลดลงร้อยละ 23.18 โดยสินค้าส่งออกหลักคือ เครื่องประดับเงิน มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.88 เนื่องจากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร ตลาดสำคัญในอันดับที่ 1, 3 และ 4 สามารถเติบโตได้ร้อยละ 10.28, ร้อยละ 28.62 และร้อยละ 77.36 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังเยอรมนีและจีน ตลาดในอันดับ 2 และอันดับ 5 ปรับลดลงร้อยละ 8.06 และร้อยละ 12.02 ตามลำดับ การส่งออก เครื่องประดับทอง ลดลงร้อยละ 47.71 อันเนื่องมาจากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และญี่ปุ่น ตลาดหลักในอันดับที่ 1, 2, 4 และ 5 ได้ลดลงร้อยละ 7.52, ร้อยละ 50.66, ร้อยละ 39.13 และร้อยละ 16.00 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปยังสหราชอาณาจักร ตลาดในอันดับที่ 3 ยังขยายตัวได้ร้อยละ 10.41 ส่วนการส่งออก เครื่องประดับแพลทินัม ยังสามารถเติบโตได้ดีร้อยละ 68.46 จากการส่งออกไปยังตลาดหลักอันดับ 1, 3, 4 และ 5 อย่างสิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งขยายตัวสูงกว่า 22.79 เท่า, ร้อยละ 8.55, ร้อยละ 80.50 และ 5.72 เท่า ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปยังญี่ปุ่น ตลาดในอันดับ 2 ปรับตัวลงร้อยละ 29.18 

ทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในอันดับ 2 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 20.94 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยโดยรวม ซึ่งมีมูลค่าลดลงร้อยละ 91.73 เนื่องจากราคาทองคำโดยเฉลี่ยในตลาดโลกปรับตัวลงต่อเนื่องจากเดือนธันวาคม 2563 มาอยู่ที่ระดับ 1,808.18 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ (https://www.kitco.com) ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ โดยราคาทองคำที่ลดลงได้รับแรงกดดันจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวสูงขึ้น จากการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด รวมทั้งแรงเทขายทองคำที่มีอย่างต่อเนื่องจากนักลงทุน กองทุนทองคำ SPDR และกองทุน ETF 

เพชร เป็นสินค้าส่งออกรายการสำคัญในอันดับ 3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.76 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย หดตัวลงร้อยละ 14.03 โดยเพชรเจียระไนเป็นสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้ มีมูลค่าลดลงร้อยละ 9.09 โดยเป็นผลจากการส่งออกไปยังฮ่องกง และเบลเยียม ตลาดในอันดับ 2  และ 3 ได้ลดลงร้อยละ 19.36 และร้อยละ 42.74 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปยังอินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหรัฐอเมริกา ตลาดในอันดับ 1, 4 และ 5 ยังขยายตัวได้ร้อยละ 41.17, ร้อยละ 34.97 และร้อยละ 11.78 ตามลำดับ

พลอยสี เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 4 มีสัดส่วนร้อยละ 8.67 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทย ลดลงร้อยละ 58.32 โดยสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้เป็น พลอยเนื้อแข็งเจียระไน (ทับทิม แซปไฟร์ และมรกต) ซึ่งหดตัวลงร้อยละ 52.25 จากการส่งออกไปยังฮ่องกง สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ และอิตาลี ตลาดในอันดับ 1, 2, 3 และ 5 ด้วยมูลค่าลดลงร้อยละ 51.26, ร้อยละ 73.98, ร้อยละ 15.86 และร้อยละ 65.57 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังฝรั่งเศส ตลาดในอันดับที่ 4 ขยายตัวได้ร้อยละ 61.54 พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ปรับตัวลดลงร้อยละ 63.87 อันเนื่องมาจากการส่งออกไปยังฮ่องกง และสหรัฐอเมริกา ตลาดในอันดับ 1 และ 3 ได้ลดลงร้อยละ 70.42 และร้อยละ 88.66 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยัง สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และรัสเซีย ตลาดในอันดับ 2, 4 และ 5 ปรับตัวสูงขึ้น 1.28 เท่า, 1.68 เท่า และ 1.41 เท่า

เครื่องประดับเทียม เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.55 หดตัวลงร้อยละ 35.96 จากการส่งออกไปยังตลาดหลักอันดับที่ 3 และ 4 อย่างลิกเตนสไตน์ และฝรั่งเศส ได้ลดลงร้อยละ 79.22 และร้อยละ 17.81 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และสวิตเซอร์แลนด์ ตลาดในอันดับที่ 1, 2 และ 5 ยังขยายตัวได้ร้อยละ 10.54, ร้อยละ 41.39 และร้อยละ 34.79 ตามลำดับ 

ตารางที่ 2  มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยรายสินค้าในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ปี 2563 และปี 2564

ที่มา: กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564 ปรับตัวลดลงร้อยละ 27.43 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อันเนื่องมาจากการส่งออกไปยังหลายตลาดสำคัญได้ลดลง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง เยอรมนี สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เบลเยียม และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตลาดในอันดับ 1, 2, 4, 5, 7, 8 และ 9 ต่างมีมูลค่าลดลงร้อยละ 23.13, ร้อยละ 39.54, ร้อยละ 10.07,  ร้อยละ 39.52, ร้อยละ 15.66, ร้อยละ 46.87 และร้อยละ  14.99 ตามลำดับ โดยสาเหตุหลักมาจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีการระบาดรอบใหม่และมีการใช้มาตรการล็อคดาวน์กันอีกครั้งในหลายประเทศทั่วโลก

การส่งออกไปยัง สหรัฐอเมริกา สินค้าสำคัญหลายรายการไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน มีมูลค่าลดลงร้อยละ 7.52, ร้อยละ 73.98 และร้อยละ 88.66 ตามลำดับ 

การส่งออกไปยัง ฮ่องกง สินค้าหลักอย่างเพชรเจียระไน เครื่องประดับทอง ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันราวร้อยละ 63 รวมทั้งสินค้าสำคัญรองลงมาอย่างพลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อน-เจียระไน และเครื่องประดับเงิน ต่างปรับตัวลดลงร้อยละ 19.36, ร้อยละ 50.66, ร้อยละ 51.26 ร้อยละ 70.42 และร้อยละ 12.65 ตามลำดับ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งเป็นกลุ่มผู้ซื้อหลักในตลาดนี้ลดลงเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 

ส่วนการส่งออกไปยัง เยอรมนี สินค้าที่สำคัญอย่างเครื่องประดับเงินและเครื่องประดับทองที่มีสัดส่วนรวมกันกว่าร้อยละ 86 ลดลงร้อยละ 8.06 และร้อยละ 40.64 ตามลำดับ 

การส่งออกไปยัง สิงคโปร์ ตลาดสำคัญอันดับที่ 5 มีมูลค่าลดลง สินค้าหมวดวัตถุดิบอย่างเศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า รวมทั้งสินค้าสำเร็จรูปอย่างเครื่องประดับทองและเครื่องประดับเทียม 

สำหรับการส่งออกไปยัง ญี่ปุ่น สินค้าส่งออกหลักของไทยอย่างเครื่องประดับทอง เครื่องประดับแพลทินัม และเครื่องประดับเงิน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรวมกันกว่าครึ่งหนึ่งล้วนมีมูลค่าลดลง 

มูลค่าการส่งออกไปยัง เบลเยียม ที่ปรับตัวลดลงนั้น เนื่องมาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเพชรเจียระไน และเพชรก้อน ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันกว่าร้อยละ 90 หดตัวลงมาก 

ส่วนมูลค่าการส่งออกไปยัง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่หดตัวลงนั้น เนื่องจากการส่งออกเครื่องประดับทอง ซึ่งเป็นสินค้าหลักอันดับที่ 2 ลดลงถึงร้อยละ 39.13 ส่วนสินค้าที่ยังขยายตัวได้ในตลาดนี้คือ เพชรเจียระไน และเครื่องประดับแพลทินัม

สำหรับตลาดอื่นๆ ที่ยังสามารถเติบโตได้ คือ อินเดีย ตลาดในอันดับที่ 3 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 2.31 จากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเพชรเจียระไนและโลหะเงิน ซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 89 ได้เพิ่มขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมาอินเดียมีการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ กิจกรรรมทางเศรษฐกิจหลายส่วนจึงสามารถกลับมาดำเนินการได้

สหราชอาณาจักร ตลาดในอันดับที่ 6 มีมูลค่าเติบโตร้อยละ 4.89 โดยไทยส่งออกสินค้าสำเร็จรูปที่สำคัญอย่างเครื่องประดับทองและเครื่องประดับเงิน ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันกว่าร้อยละ 83 ได้เพิ่มสูงขึ้น  

มูลค่าการส่งออกไปยัง ออสเตรเลีย ตลาดอันดับที่ 10 ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 26.24 โดยเป็นผลจากการส่งออกสินค้าสำเร็จรูปที่สำคัญอย่างเครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง และเครื่องประดับเทียม ได้เพิ่มสูงขึ้นมาก

แผนภาพที่ 1 ตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ปี 2564

ที่มา: กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

บทสรุป

มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ปรับตัวลดลงร้อยละ 72.39 หากพิจารณาถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยเมื่อไม่รวมการส่งออกทองคำฯ พบว่า ลดลงร้อยละ 27.43 และหากพิจารณาถึงมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เมื่อหักออกด้วยมูลค่าการส่งออกทองคำฯ และมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ส่งกลับจากการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสุทธิลดลงร้อยละ 26.73 รายละเอียดดังตารางที่ 3

ตารางที่ 3 มูลค่าการส่งออกสุทธิของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ปี 2564

ที่มา: กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) 

มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงของไทยในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ (ไม่รวมทองคำ) ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ปรับตัวลดลงนั้น เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะหลายประเทศยังเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในรอบ 2 ทำให้ยังไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากนัก ส่วนตลาดส่งออกที่เติบโตได้ดีอย่างอินเดียและสหราชอาณาจักรนั้น ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง รวมทั้งการทยอยฉีดวัคซีนในหลายพื้นที่ของประเทศ ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มกลับมา ส่งผลต่อความต้องการสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มสูงขึ้น ส่วนตลาดออสเตรเลียที่ขยายตัวได้ดีนั้น ปัจจัยหนึ่งเป็นผลจากการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ผลดีตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปีก่อนหน้า ทำให้การบริโภคของประชาชนทยอยฟื้นตัวดีขึ้น 

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังในการส่งออกของไทยในปี 2564 ยังคงเป็นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งในประเทศและประเทศคู่ค้า ซึ่งหลายประเทศเริ่มมีการแพร่ระบาดรอบใหม่ รวมทั้งค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งจะส่งผลต่อการส่งออกหากไม่มีการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และปัญหาหนี้ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยกดดันที่ต้องระมัดระวัง 

อย่างไรก็ดี ความคืบหน้าของวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่ได้ทยอยฉีดในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนมากขึ้น อีกทั้งหลายประเทศสำคัญของโลกออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จะช่วยประคองให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการบริโภคให้ผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปได้ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาด โดยให้น้ำหนักต่อการทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น จะเป็นปัจจัยบวกในการเข้าถึงความต้องการบริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของผู้บริโภคจากทั่วโลกได้


 

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

*พิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71 ว่าด้วย “ไข่มุกธรรมชาติหรือไข่มุกเลี้ยง รัตนชาติหรือกึ่งรัตนชาติ โลหะมีค่า โลหะที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า และของที่ทำด้วยของดังกล่าว เครื่องเพชรพลอย และรูปพรรณที่เป็นของเทียม เหรียญกษาปณ์” 


 

นำเข้าส่งออกอัญมณี, อุตสาหกรรม, อัญมณีและเครื่องประดับ, GIT, สถานการณ์, การส่งออก, Export, ปี 2564, ม.ค.-ก.พ., สะสม 2 เดือน