หน้าแรก / THTI Insight / ข้อมูล นำเข้า-ส่งออก / สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม ปี 2564

สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม ปี 2564

กลับหน้าหลัก
12.03.2564 | จำนวนผู้เข้าชม 1197

สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย เดือนมกราคม ปี 2564

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71* ในเดือนมกราคม ปี 2564 ปรับตัวลดลงร้อยละ 70.68 (ร้อยละ 70.81 ในหน่วยของเงินบาท) จากเดิมในเดือนแรกของปี 2563 ที่มีมูลค่า 1,734.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (51,933.23 ล้านบาท) มาอยู่ที่ 508.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (15,160.66 ล้านบาท) โดยเป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 9 คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 2.59 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ หากนำมูลค่าดังกล่าวข้างต้นหักออกด้วยการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 391.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (11,674.41 ล้านบาท) ลดลงจากเดือนเดียวกันของปี ก่อนหน้าร้อยละ 26.13 (ร้อยละ 26.45 ในหน่วยของเงินบาท)

ตารางที่ 1 มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในระหว่างเดือนมกราคม ปี 2564

ที่มา: กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

สถานการณ์การส่งออก

สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดในช่วงเดือนแรกของปีนี้ คือ เครื่องประดับแท้ในสัดส่วนร้อยละ 41.48 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย หากแต่มีมูลค่าลดลงร้อยละ 16.23 โดยสินค้าส่งออกหลักคือ เครื่องประดับเงิน ปรับตัวเพิ่มเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.09 เนื่องจากการส่งออกไปยัง สหรัฐอเมริกา จีน ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร ตลาด สำคัญในอันดับที่ 1, 3, 4 และ 5 ซึ่งมีมูลค่าเติบโตร้อยละ 7.37, ร้อยละ 58.34, ร้อยละ 32.74 และร้อยละ 2.98 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังเยอรมนีตลาดในอันดับ 2 ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.98 การส่งออกเครื่องประดับทองลดลงร้อยละ 39.28 อันเนื่องมาจากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง สหรัฐ อาหรับ-เอมิเรตส์และญี่ปุ่น ตลาดหลักในอันดับที่ 1, 2, 4 และ 5 ได้ลดลงร้อยละ 14.63, ร้อยละ 23.12, ร้อยละ 54.06 และ ร้อยละ 16.64 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปยังสหราชอาณาจักร ตลาดในอันดับที่ 3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.41 ส่วนการส่งออกเครื่องประดับแพลทินัม ยังสามารถเติบโตได้ถึง 1.51 เท่า จากการส่งออกไปยังตลาดหลักอันดับ 1, 4 และ 5 อย่าง สิงคโปร์สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และฮ่องกง ที่ขยายตัวสูงกว่า 22.05 เท่า, 6.07 เท่า และร้อยละ 44.81 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปยังญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ตลาดในอันดับ 2 และ 3 ปรับตัวลดลงร้อยละ 8.33 และร้อยละ 14.75 ตามลำดับ 

ทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในอันดับ 2 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 23 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยโดยรวม ซึ่งมีมูลค่าลดลงร้อยละ 90.29 เนื่องจากราคาทองคำเฉลี่ยปรับตัวลดลงจากเดือนธันวาคม 2563 มาอยู่ที่ระดับ 1,866.98 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์(https://www.kitco.com) ในเดือนมกราคมของปีนี้โดยมีปัจจัยกดดันมาจากแรงเทขายทองคำของจากกองทุน SPDR และกองทุน ETF รวมทั้งนักลงทุนเทขายสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำที่ทำกำไรได้ลดลง และ หันไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า รวมทั้งแผนการกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 ไปยังหลายประเทศ ทั่วโลกทำให้มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัว นักลงทุนจึงกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มมากขึ้น

เพชร เป็นสินค้าส่งออกรายการสำคัญในอันดับ 3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.14 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย หดตัวลงร้อยละ 19.32 โดยเพชรเจียระไนเป็นสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้ มีมูลค่าลดลงร้อยละ 11.09 เนื่องจากการส่งออกไปยังฮ่องกง และเบลเยียม ตลาดหลักใน อันดับ 1 และ 3 ได้ลดลงร้อยละ 1.49 และร้อยละ 40.52 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปยังอินเดีย สหรัฐอเมริกา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ตลาดในอันดับ 2, 4 และ 5 ขยายตัวได้ร้อยละ 8.05, ร้อยละ 6.88 และร้อยละ 32.19 ตามลำดับ 

พลอยสี เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 4 มีสัดส่วนร้อยละ 8.72 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทย ลดลงร้อยละ 66.56 โดยสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้เป็นพลอยเนื้อแข็งเจียระไน (ทับทิม แซปไฟร์ และมรกต) หดตัวลงร้อยละ 57.23 จากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส ตลาดในอันดับ 2 และ 4 ได้ลดลงร้อยละ 82.26 และร้อยละ 6.55 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ และอิสราเอล ตลาดในอันดับ 1, 3 และ 5 ขยายตัวได้ดีร้อยละ 67.45, ร้อยละ 64.24 และ 1.62 เท่า ตามลำดับ พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ปรับตัวลดลงร้อยละ 75.98 อันเป็นผลจากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ตลาดในอันดับ 2 และ 5 ได้ลดลงร้อยละ 94.67 และร้อยละ 28.37 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออก ไปยังฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ และสิงคโปร์ ตลาดในอันดับ 1, 3 และ 4 เติบโตได้ร้อยละ 41.83, ร้อยละ 97.31 และ 5.16 เท่า 

เครื่องประดับเทียม เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.97 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 35.14 จากการส่งออกไปยังตลาดหลักใน 3 อันดับแรกอย่างสหรัฐอเมริกา ลิกเตนสไตน์ และสิงคโปร์ ได้ลดลงร้อยละ 5.28, ร้อยละ 72.89 และร้อยละ 47.32 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังฮ่องกง และสวิตเซอร์แลนด์ตลาดในอันดับที่ 4 และ 5 ยังเติบโตได้ร้อยละ 43.49 และร้อยละ 41.62 ตามลำดับ 

ตารางที่ 2  มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยรายสินค้าในเดือนมกราคม ปี 2563 และ 2564

ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

เมื่อพิจารณาสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับส่งออกรายการสeคัญรายเดือน (ดังแผนภาพที่ 1) พบว่า การส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง และเพชรเจียระไน เริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่หลายประเทศสามารถจำกัดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้มากขึ้นจากการล็อคดาวน์ประเทศ และเริ่มกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการขนส่งในบางส่วน ขณะที่พลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน รวมถึงเครื่องประดับเทียมยังเพิ่มขึ้นไม่มากนักเมื่อเทียบกับสินค้า สำคัญ 3 รายการข้างต้น แต่เมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม 2563 การส่งออกสินค้าสำคัญทั้ง 6 รายการ ดังกล่าวกลับมาชะลอตัวอีกครั้งจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบ 2 ซึ่งประเทศสำคัญทางเศรษฐกิจหลายประเทศมี ผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กระทั่งหลายประเทศนำมาตรการล็อคดาวน์กลับมาใช้อีกครั้ง

แผนภาพที่ 1 แสดงมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยรายการสำคัญรายเดือน ปี 2563-2564

ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในเดือนมกราคมปรับตัวลดลงร้อยละ 26.13 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า อันเนื่องมาจากการส่งออกไปยังหลายตลาดสำคัญได้ลดลง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี อินเดีย เบลเยียม ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหราชอาณาจักร ตลาดในอันดับ 1, 3, 4, 6, 7, 8 และ 9 ที่ล้วนมีมูลค่าลดลงร้อยละ 40.41, ร้อยละ 10.18, ร้อยละ 20.30, ร้อยละ 51.12, ร้อยละ 2.37, ร้อยละ 28.06 และร้อยละ 19.70 ตามลำดับ

การส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาที่ปรับตัวลดลงนั้น เป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การบริโภคยังไม่ฟื้นตัว สะท้อนให้เห็นจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดต่ำลง ทำให้ไทยส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการไปยังตลาดนี้ได้ลดลง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็ง และเนื้ออ่อนเจียระไน ที่ต่างมีมูลค่าลดลงร้อยละ 14.63, ร้อยละ 82.26 และร้อยละ 94.67 ตามลำดับ 

มูลค่าการส่งออกไปยังเยอรมนีที่หดตัวลงนั้น เนื่องจากเศรษฐกิจของเยอรมนีชะลอตัวลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กลับมารุนแรงอีกครั้ง ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย มีผลให้ไทยส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงิน ซึ่งมีสัดส่วนราวร้อยละ 87 ได้ลดลงร้อยละ 4.98 รวมทั้งสินค้าสำคัญรองลงมาอย่างเครื่องประดับทองและเครื่องประดับเทียม ก็ปรับตัวลดลงร้อยละ 27.95 และ ร้อยละ 5.68 ตามลำดับ

การส่งออกไปยังอินเดียที่ลดลงนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการบริโภคในประเทศและประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาลง ผู้นำเข้าจึงลดการนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับลง โดยเฉพาะวัตถุดิบอย่างพลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ส่วนสินค้าที่ยังเติบโตได้ในตลาดนี้คือ เพชรเจียระไน โลหะเงิน และอัญมณีสังเคราะห์

มูลค่าการส่งออกไปยังเบลเยียมที่ปรับตัวลดลงนั้น เนื่องมาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเพชรเจียระไนและ เพชรก้อน ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันกว่าร้อยละ 92 ได้ลดลงมากถึงร้อย ละ 40.52 และร้อยละ 92.10 ตามลำดับ

สำหรับการส่งออกไปยังญี่ปุ่นที่ลดลงนั้นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอุปสงค์ต่อสินค้าฟุ่มเฟือยของผู้บริโภคชะลอตัวลง จากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ไทยส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทอง และสินค้าสำคัญถัดมา ทั้งเครื่องประดับแพลทินัม เครื่องประดับเงิน พลอยเนื้อแข็ง และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ได้ลดลง

มูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ปรับตัวลดลง เนื่องจากการส่งออกเครื่องประดับทอง ซึ่งเคยเป็นสินค้าหลักอันดับหนึ่งในปีที่ผ่านมา ได้ลดลงมากถึงร้อยละ 54.06 ส่วนสินค้าที่ยังขยายตัวได้ในตลาดนี้คือ เพชรเจียระไน และ เครื่องประดับแพลทินัม

การส่งออกไปยังสหราชอาณาจักรที่ลดลงนั้น เป็นผลจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างพลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน รวมทั้งเครื่องประดับเทียมได้ลดลง ในขณะที่เครื่องประดับทองและเครื่องประดับเงินยังสามารถเติบโตได้

สำหรับตลาดสำคัญอื่น ๆ ที่ขยายตัวได้ ได้แก่ ฮ่องกง ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 8.43 เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มทยอยฟื้นตัว ผู้บริโภคจึงมีความเชื่อมั่นในการบริโภคมากขึ้น ทำให้ไทยส่งออกสินค้าสำคัญอย่างพลอยเนื้อแข็งเจียระไน เครื่องประดับเทียม และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนได้เพิ่มมากขึ้น ส่วนสินค้าที่หดตัวลง ได้แก่ เพชรเจียระไน และเครื่องประดับทอง

การส่งออกไปสิงคโปร์ขยายตัวได้สูงกว่า 1.83 เท่า เนื่องจากการส่งออกเครื่องประดับแพลทินัม ซึ่งเป็นสินค้าหลักในสัดส่วนราวครึ่งหนึ่ง และสินค้าสำคัญถัดมาอย่างเครื่องประดับทอง และเครื่องประดับเงินได้เพิ่มสูงขึ้น

มูลค่าการส่งออกไปยังออสเตรเลียเติบโตร้อยละ 23.41 โดยเป็นผลจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับแท้ ทั้งเครื่องประดับเงินและเครื่องประดับทอง ที่มีสัดส่วนรวมกันราวร้อยละ 49 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 62.21 และร้อยละ 18.97 ตามลำดับ

แผนภาพที่ 2 ตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในเดือนมกราคม ปี 2564

ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

บทสรุป 

มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐในเดือนแรกของปีนี้ลดลงร้อยละ 70.68 (ร้อยละ 70.81 เมื่อพิจารณาในหน่วยเงินบาท) หากพิจารณาถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยเมื่อไม่รวม การส่งออกทองคำฯ จะพบว่าลดลงร้อยละ 26.13 (ร้อยละ 26.45 เมื่อพิจารณาในหน่วยเงินบาท) และหากพิจารณาถึงมูลค่า ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เมื่อหักออกด้วยมูลค่า การส่งออกทองคำฯ และมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ส่งกลับจากการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ พบว่ า มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสุทธิหดตัวลงร้อยละ 23.55 (ร้อยละ 23.83 เมื่อพิจารณาในหน่วยเงินบาท) รายละเอียดดังตารางที่ 3

ตารางที่ 3 มูลค่าการส่งออกสุทธิของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในระหว่างเดือนมกราคม ปี 2564

ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงของไทยในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ (ไม่รวมทองคำ) ในช่วงเดือนแรกของปีนี้ที่ลดลงนั้น ปัจจัยหลักยังคงมาจากผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่กลับมาระบาดรอบ 2 ในหลายประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งนานาประเทศต่างนำมาตรการล็อคดาวน์รวมทั้งประกาศเคอร์ฟิวออกมาใช้อย่างเข้มข้น และระงับการทาธุรกิจที่ไม่จำเป็นต่อพื้นฐานการบริโภค ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลง มีเพียงตลาดที่สำคัญอย่างฮ่องกง สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ที่ควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีทำให้เศรษฐกิจทยอยปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมา และความต้องการสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับปรับตัวสูงขึ้น

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นอุปสรรคในการส่งออกของไทย ในปี 2564 ได้แก่ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศคู่ค้าและภายในประเทศที่ยังมีสถานการณ์รุนแรง ค่าเงินบาทมี แนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน และค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงความไม่แน่นอนใน การดำเนินนโยบายการค้าต่างประเทศของประเทศคู่ค้าสำคัญ

อย่างไรก็ดี วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่ได้เริ่มใช้ในหลายประเทศ ได้สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนมากขึ้น และจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการบริโภคทั่วโลกฟื้นตัว รวมทั้งความคุ้นเคยในการซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เหล่านี้จะเป็นปัจจัยบวกช่วยเพิ่มความต้องการบริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของผู้บริโภคในปีนี

-------------------------------------------

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

*พิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71 ว่าด้วย “ไข่มุกธรรมชาติหรือไข่มุกเลี้ยง รัตนชาติหรือกึ่งรัตนชาติ โลหะมีค่า โลหะที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า และของที่ทำด้วยของดังกล่าว เครื่องเพชรพลอย และรูปพรรณที่เป็นของเทียม เหรียญกษาปณ์” 


นำเข้าส่งออกอัญมณี, อุตสาหกรรม, อัญมณีและเครื่องประดับ, GIT, สถานการณ์, การส่งออก, Export, ปี 2564, เดือนมกราคม