หน้าแรก / THTI Insight / ข้อมูล นำเข้า-ส่งออก / สถานการณ์อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2564

สถานการณ์อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2564

กลับหน้าหลัก
09.04.2564 | จำนวนผู้เข้าชม 17760

ภาพที่ 1 แสดงภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2564 

ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบว่า การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 501.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 12.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน (YoY) แบ่งเป็น (1) การส่งออกกลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 314.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 13.1 และ (2) การส่งออกกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 187.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 11.5 ขณะที่ภาพรวมการนำเข้าของอุตสาหกรรมดังกล่าว มีมูลค่า 390.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.7 แบ่งเป็น (1) การนำเข้ากลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 257.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.9 และ (2) การนำเข้ากลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 132.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.9 และส่งผลให้ภาพรวมดุลการค้าเกินดุล คิดเป็นมูลค่า 111.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมดังกล่าว (สะสม) 2 เดือน (เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564) พบว่า การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 980.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 13.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน (YoY) แบ่งเป็น (1) การส่งออก (สะสม) กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 627.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 11.0 และ (2) การส่งออก (สะสม) กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 352.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 17.3 ขณะที่ภาพรวมการนำเข้า (สะสม) 2 เดือนของอุตสาหกรรมดังกล่าว มีมูลค่า 831.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.6 แบ่งเป็น (1) การนำเข้า (สะสม) กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 534.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 และ (2) การนำเข้า (สะสม) กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 296.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.5 และส่งผลให้ภาพรวมดุลการค้า (สะสม) เกินดุล คิดเป็นมูลค่า 149.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ภาพที่ 2 แสดงมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 4 ผลิตภัณฑ์หลัก 

เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกแยกตาม 4 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นใยประดิษฐ์ เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบว่า เส้นใยประดิษฐ์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ที่ร้อยละ 14.4 และ 3.4 ทั้งนี้ เป็นผลจากการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา และจีน ที่ในเดือนนี้มีการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น MoM และ YoY

ขณะที่การส่งออกผลิตภัณฑ์ด้ายและผ้าผืน พบว่า ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยเฉพาะการส่งออกผ้าผืนที่ปรับตัวลดลงในเดือนนี้ เป็นผลจากการส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียน มีการปรับตัวลดลงในเกือบทุกตลาด ทั้งตลาดเวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดเมียนมา ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 74.1 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการเกิดรัฐประหารขึ้นภายในประเทศ มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564

และการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม พบว่า ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) ที่ร้อยละ 13.2 จากการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเบลเยียม ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4, 3.5 และ 61.6 ตามลำดับ แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า การส่งออกเครื่องนุ่งห่มของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ยังคงปรับตัวลดลงร้อยละ 11.5  

ภาพที่ 3 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ เดือนกุมภาพันธ์ 2564 และ (สะสม) เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564

การส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ พบว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีมูลค่าการส่งออก 72.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในตลาดสหรัฐอเมริกาและจีน ร้อยละ 76.5 และ 93.5 

และการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ (สะสม) 2 เดือน พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 135.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ทั้งนี้การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาและจีน ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 63.5 และ 15.4 

ภาพที่ 4 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นด้าย เดือนกุมภาพันธ์ 2564 และ (สะสม) เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564

การส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นด้าย พบว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีมูลค่าการส่งออก 48.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 15.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่เมื่อพิจารณาในรายตลาด พบว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์นี้ไปยังตลาดจีน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.7 แต่การส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดหลักสำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์นี้ ปรับตัวลดลงร้อยละ 7.4 

และการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นด้าย (สะสม) 2 เดือน พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 98.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกันที่ร้อยละ 10.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกไปยังตลาดหลัก คือ ตลาดญี่ปุ่น ปรับตัวลดลง (สะสม) ร้อยละ 1.9

ภาพที่ 5 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ผ้าผืน เดือนกุมภาพันธ์ 2564 และ (สะสม) เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564

การส่งออกผลิตภัณฑ์ผ้าผืน พบว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีมูลค่าการส่งออก 85.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 27.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) เป็นผลจากการส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียน 3 อันดับแรก ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา ปรับตัวลดลงร้อยละ 21.1, 18.5 และ 74.1 ตามลำดับ โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดเมียนมา ที่ปรับตัวลดลงค่อนข้างสูงเป็นผลสืบเนื่องจากการเกิดรัฐประหารขึ้นภายในประเทศ มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564

และจากการส่งออกผ้าผืนของไทยไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียน ที่ปรับตัวลดลงจึงส่งผลให้ภาพรวมการส่งออก (สะสม) ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกันที่ร้อยละ 23.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) หรือที่มูลค่าการส่งออก (สะสม) 176.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ภาพที่ 6 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม เดือนกุมภาพันธ์ 2564 และ (สะสม) เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564

การส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม พบว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีมูลค่าการส่งออก 187.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 11.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มไปยังตลาดสำคัญ ๆ ใน 3 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเบลเยียม ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.7, 19.1 และ 28.0 ตามลำดับ 

และการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม (สะสม) 2 เดือน พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 352.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกันที่ร้อยละ 17.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกไปยังตลาดสำคัญ ๆ ใน 3 อันดับแรกที่ยังคงปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน 

ภาพที่ 7 แสดงมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 3 ผลิตภัณฑ์หลัก

เมื่อพิจารณามูลค่าการนำเข้าแยกตาม 3 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม พบว่า ทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน (YoY) สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์เส้นด้าย ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 จากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากตลาดจีนและญี่ปุ่น ขณะที่การนำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าผืน ขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันที่ร้อยละ 45.1 จากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากตลาดจีนและเวียดนาม และการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 จากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากตลาดจีนและเวียดนาม

แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) พบว่า ปรับตัวลดลงในทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์

ภาพที่ 8 แสดงมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์เส้นด้าย เดือนกุมภาพันธ์ 2564 และ (สะสม) เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564

การนำเข้าผลิตภัณฑ์เส้นด้าย พบว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีมูลค่าการนำเข้า 107.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากตลาดจีน ที่มูลค่าการนำเข้า 34.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีส่วนแบ่งทางการตลาด คิดเป็นร้อยละ 32.1 สำหรับการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากตลาดญี่ปุ่น ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.8 ที่มูลค่าการนำเข้า 13.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

และการนำเข้าผลิตภัฑณ์เส้นด้าย (สะสม) 2 เดือน พบว่า มีมูลค่าการนำเข้า 219.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่เมื่อพิจารณาการนำเข้าในรายตลาด พบว่า มีการนำเข้า (สะสม) เพิ่มขึ้นจากตลาดจีน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.3 หรือที่มูลค่าการนำเข้า (สะสม) 67.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ภาพที่ 9 แสดงมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าผืน เดือนกุมภาพันธ์ 2564 และ (สะสม) เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564

การนำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าผืน พบว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีมูลค่าการนำเข้า 150.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากตลาดจีน ที่มูลค่าการนำเข้า 76.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีส่วนแบ่งทางการตลาด คิดเป็นร้อยละ 50.7 สำหรับการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากตลาดเวียดนาม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.6 ที่มูลค่าการนำเข้า 15.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

และการนำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าผืน (สะสม) 2 เดือน พบว่า มีมูลค่าการนำเข้า 315.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยนำเข้า (สะสม) เพิ่มขึ้นจากตลาดจีน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.0 หรือที่มูลค่าการนำเข้า (สะสม) 158.8 ล้านดอลาร์สหรัฐ เช่นเดียวกันกับการนำเข้า (สะสม) เพิ่มขึ้นจากตลาดเวียดนาม ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8  

ภาพที่ 10 แสดงมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม เดือนกุมภาพันธ์ 2564 และ (สะสม) เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564

การนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม พบว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีมูลค่าการนำเข้า 83.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากตลาดจีนและเวียดนาม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 64.6 และ 13.0 

และการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม (สะสม) 2 เดือน พบว่า มีมูลค่าการนำเข้า 181.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 17.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกไปยังตลาดสำคัญ ๆ ใน 3 อันดับแรกที่ปรับตัวลดลง 

ภาพที่ 11 แสดงมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 4 ผลิตภัณฑ์หลัก เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน (MoM)

ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ใน 4 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นใยประดิษฐ์ เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการส่งออกไปยังตลาด 3 อันดับแรกของแต่ละผลิตภัณฑ์ พบว่า 

ผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ พบว่า มูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) และเมื่อพิจารณาในรายตลาดการส่งออกของผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ พบว่า ตลาดการส่งออกทั้ง 3 อันดับแรก ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 50.3, 51.8 และ 0.3 ตามลำดับ

ผลิตภัณฑ์เส้นด้าย พบว่า มูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการปรับตัวลดลงในตลาดญี่ปุ่นและบังคลาเทศ ปรับตัวลดลงร้อยละ 20.8 และ 17.0 แต่การส่งออกเส้นด้ายไปยังตลาดจีน พบว่า ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.1 

ผลิตภัณฑ์ผ้าผืน พบว่า มูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) ของตลาดทั้ง 3 อันดับแรก ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.6, 19.9 และ 20.2 ตามลำดับ 

และผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม พบว่า มูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) และเมื่อพิจารณาในรายตลาดการส่งออกของผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม พบว่า ตลาดการส่งออกทั้ง 3 อันดับแรก ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4, 3.5 และ 61.6 ตามลำดับ

ภาพที่ 12 แสดงมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 3 ผลิตภัณฑ์หลัก เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM)

และมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ใน 3 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการนำเข้าใน 3 อันดับแรกของแต่ละผลิตภัณฑ์ พบว่า ภาพรวมมูลค่าการนำเข้าปรับตัวลดลงในทุกผลิตภัณฑ์

ผลิตภัณฑ์เส้นด้าย พบว่า มูลค่าการนำเข้าปรับตัวลดลงร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) แต่เมื่อพิจารณาการนำเข้าในรายตลาด พบว่า นำเข้าเพิ่มขึ้นจากตลาดจีนและญี่ปุ่น ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 และ 29.5

ผลิตภัณฑ์ผ้าผืน พบว่า มูลค่าการนำเข้าปรับตัวลดลงร้อยละ 9.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากตลาดการนำเข้าทั้ง 3 อันดับแรก ปรับตัวลดลงร้อยละ 7.9, 20.1 และ 13.3 ตามลำดับ

และผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม พบว่า มูลค่าการนำเข้าปรับตัวลดลงร้อยละ 14.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) แต่เมื่อพิจารณาการนำเข้าในรายตลาด พบว่า นำเข้าเพิ่มขึ้นจากตลาดเวียดนามและกัมพูชา ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.9 และ 34.4 แต่การนำเข้าจากตลาดจีน ปรับตัวลดลงร้อยละ 29.7

จะเห็นว่า ภาพรวมการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ปรับตัวลดลงร้อยละ 12.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่หากเทียบกับเดือนก่อน (MoM) พบว่า ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 และ 13.2 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา และตลาดจีน ที่ในเดือนนี้ (เดือนกุมภาพันธ์ 2564) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 และ 48.4 หรือที่มูลค่า 97.6 และ 37.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

หากพิจารณาในตลาดสหรัฐอเมริกา พบว่า ยอดค้าปลีกในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.0 (MoM) โดยยอดค้าปลีกลดลงในเกือบทุกหมวดสินค้า ยกเว้นในหมวดร้านของชำ และปั๊มนำ้มัน ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้ยอดค้าปลีกในสหรัฐอเมริกาปรับตัวลดลงสืบเนื่องจากเงินช่วยเหลือทางตรงที่รัฐบาลจ่ายให้แก่ชาวอเมริกาส่วนใหญ่เมื่อเดือนมกราคม 2564 เริ่มหมดลง ประกอบกับสภาพอากาศหนาวจัดในหลายพื้นที่ 

ทั้งนี้ คาดว่ายอดค้าปลีกเดือนมีนาคม 2564 จะเพิ่มขึ้นจากมาตรการช่วยเหลือทางตรงรอบใหม่ (เดือนมีนาคม 2564) บวกกับการแจกจ่ายวัคซีนภายในประเทศที่รวดเร็วขึ้น ปัจจัยทั้ง 2 ด้านนี้ คาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริการขยายตัวเร็วขึ้น และคาดว่าจะส่งผลบวกต่อภาพรวมการค้าระหว่างประเทศคู่ค้าด้วยเช่นกัน

-------------------------------------------------

Source : 

1) Information and Communication Technology Center with Cooperation of The Customs Department

2) สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจการคลัง ประจำกรุงวอชิงตัน


จัดทำและเรียบเรียงโดย 

ศูนย์ข้อมูลและดิจิทัลอุตสาหกรรม (แผนกข้อมูลอุตสาหกรรม) 

สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ

9 เมษายน 2564

นำเข้าส่งออกสิ่งทอ, อุตสาหกรรม, สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, Import, Export, Textile, Clothing, ปี 2564, เดือนกุมภาพันธ์, THTI, Fashion Intelligence Unit, FIU, FIU_'64