หน้าแรก / THTI Insight / องค์ความรู้ / พระแก้วมรกตน้อย

พระแก้วมรกตน้อย

กลับหน้าหลัก
11.12.2562 | จำนวนผู้เข้าชม 2135

พระแก้วมรกตน้อย


ประเทศไทยนั้นถือได้ว่าเป็นเมืองพุทธ อันเนื่องมาจากประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ (กว่าร้อยละ 90) นับถือศาสนาพุทธ จึงไม่น่าแปลกใจที่บ้านเมืองของเราจะมีพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองที่สำคัญหลายองค์ อาทิ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธชินราช เป็นต้น

ในบทความนี้ ขอกล่าวถึงพระพุทธรูปสำคัญอีกองค์หนึ่งของไทย เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับขัดสมาธิเพชรบนฐานดอกบัว ขนาดหน้าตักกว้าง 9.20 นิ้ว สูง 14.40 นิ้ว สลักจากหยกสีเขียวเข้ม สำหรับความแตกต่างและความน่าสนใจของพระพุทธรูปองค์นี้อยู่ตรงที่ องค์พระพุทธรูปถูกสร้างขึ้นในต่างแดน ด้วยฝีมือของชาวต่างชาติและต่างศาสนา พระพุทธรูปองค์ที่กำลังกล่าวถึงนี้ มีชื่อว่า “พระพุทธมณีรัตนปฏิมากร”หรือชื่อที่เรียกโดยทั่วไปว่า “พระแก้วมรกตน้อย”

พระพุทธมณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกตน้อย)

ภาพจาก : สยามมานุสสติ (http://www.siammanussati.com/2242-2)


ประวัติพระพุทธมณีรัตนปฏิมากร

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้สร้างพระพุทธรูปขึ้นองค์หนึ่งสำหรับประดิษฐาน ณ พระราชวังดุสิต อันเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ไทยอีกแห่งหนึ่งนับตั้งแต่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)

ขณะนั้นเป็นช่วงเดียวกับที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ จะเดินทางไปยังทวีปยุโรปในปี 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีรับสั่งให้ช่างฝีมือในราชสำนักปั้นพระพุทธรูปต้นแบบขึ้นจนได้ลักษณะงดงามเป็นที่พอพระราชหฤทัย และได้พระราชทานให้แก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถฯ โดยมีพระราชดำรัสให้แสวงหาแก้วมรกตขนาดใหญ่ พร้อมด้วยช่างฝีมือชั้นเลิศ เพื่อสร้างพระพุทธรูปตามที่ทรงมีพระราชดำริ

ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถฯ ทรงใช้เวลาร่วมปีเพื่อเสาะแสวงหาอัญมณีล้ำค่าควรคู่แก่การนำมาสร้างเป็นพระพุทธรูปสำคัญของสยามประเทศ จนได้ทรงพบกับหยกสีเขียวเข้มก้อนโตในประเทศรัสเซีย และได้ทรงมอบความไว้วางพระทัยให้นายปีเตอร์ คาร์ล ฟาแบร์เช (Peter Carl Fabergé)ช่างทองหลวงประจำราชสำนักรัสเซีย ผู้มีชื่อเสียงอย่างมากในการประดิษฐ์ศิลปะวัตถุไข่อีสเตอร์ และยังเคยถวายการรับใช้ราชสำนักสยามในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เป็นผู้สร้างพระพุทธรูปดังกล่าว

นายปีเตอร์ คาร์ล ฟาแบร์เช ใช้เวลาปีเศษ จนกระทั่งในปี 2457 การเนรมิตพระพุทธรูปนี้จึงสำเร็จลุล่วงอย่างสวยงาม จากนั้นก็ถึงเวลาที่จะอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้กลับสู่พระนคร

แต่ในการอัญเชิญพระพุทธรูปกลับสู่ประเทศไทยนั้นเป็นไปอย่างค่อนข้างลำบาก เนื่องจากในปี 2457 สงครามโลกครั้งที่ 1 ได้อุบัติขึ้นและขยายขอบเขตความรุนแรงไปทั่วทวีปยุโรป หากแต่ท้ายที่สุดเรือที่อัญเชิญพระพุทธรูปก็ได้เดินทางถึงพระนครด้วยความปลอดภัย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถวายพระนามให้พระพุทธรูปองค์นี้ว่า พระพุทธมณีรัตนปฏิมากร และโปรดฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีสมโภชและพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในระหว่างวันที่ 24 -25ธันวาคม 2457จากนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ พระภิกษุ สามเณร ข้าราชการ และประชาชนทั่วไป เข้ามาสักการะบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลได้เป็นเวลา 3 วัน

แม้ว่าประชาชนทั่วไปจะไม่มีโอกาสบ่อยครั้งที่จะได้กราบสักการะ พระพุทธมณีรัตนปฏิมากร หากแต่พระพุทธรูปองค์นี้ได้เคยถูกอัญเชิญมายังมณฑลพิธีในพระราชพิธีสำคัญอยู่หลายครา

และเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิรา-ลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้นำพระพุทธมณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกตน้อย ไปประดิษฐานยังมณฑลพิธี ณ ลานพระราชวังดุสิต สำหรับเป็นพระประธานในพิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และถวายพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงและพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 65 พรรษา 

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)


--------------------------------------------------------------

ข้อมูลอ้างอิง:

1.ไทยรัฐ. พระแก้วมรกตน้อย. สืบค้น 27 ธันวามคม 2561 จาก https://www.thairath.co.th/content/108565 

2.ศิลปวัฒนธรรม.พระพุทธมณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกตน้อย) พระแก้วประจำรัชกาลที่ 6 จากรัสเซีย. สืบค้น 27 ธันวาคม 2561 จาก https://www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/article_10970 

3.Manager Online. (27 กรกฎาคม 2561). สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชานุญาตให้รัฐบาลเชิญชวน ปชช. ร่วมสวดมนต์ถวายพระราชกุศลแด่ในหลวง รัชกสลที่ 9. สืบค้น 27 ธันวาคม 2561 จาก https://mgronline.com/onlinesection/detail/9600000076331 

ภาวะอัญมณี, อุตสาหกรรม, อัญมณีและเครื่องประดับ, GIT, พระแก้วมรกตน้อย, ประเทศไทย, พุทธ, พระพุทธรูป