หน้าแรก / บริการ THTI / ฝึกอบรม / โครงการพัฒนาสินค้าผ้าไทยสู่ตลาดโลกด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

โครงการพัฒนาสินค้าผ้าไทยสู่ตลาดโลกด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

29.10.2563 | จำนวนผู้เข้าชม 6451

โครงการพัฒนาสินค้าผ้าไทยสู่ตลาดโลกด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
โดยสำนักส่งเสริมการค้าสินค้าไลฟ์สไตล์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

ได้นำนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยคือ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) ในการนำประเทศไทยเข้าสู่ Thailand 4.0  เพื่อพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม แฟชั่นไลฟ์สไตล์ นำไปสู่การขยายช่องทางการตลาดระดับโลก ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักที่สำคัญของไทยและให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป เป็นต้น โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้มอบหมายให้ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นที่ปรึกษาและดำเนินการกิจกรรมต่างๆ ในกิจกรรมการเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการเชิงลึกรายบริษัท มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 13 กิจการ ซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องวัตถุดิบ กระบวนการผลิตและรูปแบบของผลิตภัณฑ์ ที่ปรึกษาด้านการออกแบบได้ให้คำแนะนำและร่วมกันสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ต้นแบบตามความถนัดของแต่ละกิจการ ทำให้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบมีความหลายหลายและน่าสนใจแตกต่างกันไป

Circular Economy
 
Circular Economy เป็นระบบเศรษฐกิจแบบปิด โดยมีแนวคิดในการจัดการทรัพยากรให้เกิดการหมุนเวียนในระบบ นำเอาของที่ใช้แล้วเวียนกลับมาเป็นวัตถุดิบ (Re-material)ทำผลิตภัณฑ์ขึ้นมาใหม่ (Make Use Return) เพื่อเป็นการลดการใช้ทรัพยากรที่กำลังหมดไป และไม่ต้องกำจัดขยะที่กำลังเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น
 
กระบวนการดำเนินงานในการพัฒนาของโครงการพัฒนาสินค้าผ้าไทยสู่ตลาดโลกด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ประกอบด้วยปัจจัยหลัก (Key Success factors for Circular Economy)  ดังนี้
1. Sustainable materials:
การเลือกใช้วัสดุและวัตถุดิบจากธรรมชาติ หรือกระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่/รักษาสิ่งแวดล้อม
2. Sustainable processes:
การใช้กระบวนการผลิตและพัฒนาสินค้าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในรูปแบบใหม่ที่เกิดผลกระทบต่อการผลิตน้อยสุด
3. Waste reduction:
การจัดการของเสียให้เป็นศูนย์ รวมทั้งการรักษาประสิทธิภาพของระบบ ผ่านการออกแบบเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านลบ (negative externalities)
4. Local production:
การผลิตและพัฒนาสินค้าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยใช้ท้องถิ่นเป็นตัวขับเคลื่อน ทั้งการผลิตและบริโภค เพื่อให้เกิดการผลิตในประเทศไทย
5. Crafts and Community:
การให้ความสำคัญกับวิสาหกิจชุมชนและสินค้าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เชิงพื้นเมือง เพื่อสร้างการจ้างงานและสร้างรายได้ในชุมชน
 
จากปัจจัยหลักทั้ง 5 ปัจจัย ผนวกกับการออกแบบสร้างสรรค์ให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่หลากหลายขึ้น ได้แก่
-การพัฒนาวัตถุดิบใหม่ เช่น การใช้ใบตองตึง ซึ่งเป็นพืชในท้องถิ่นมาเคลือบยางพาราให้มีลักษณะเหมือนแผ่นหนัง การใช้เส้นใยประดิษฐ์ชนิดใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
-การพัฒนาเส้นใยธรรมชาติใหม่ เช่น การใช้เส้นใยสับปะรดที่เป็นของเสียทางการเกษตรแล้วแปรรูปมาเป็นผืนผ้า การใช้เส้นใยกัญชงที่ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงในการปลูกเหมือนฝ้าย การใช้เส้นใยนุ่นมาถักทอร่วมกับเส้นใยอื่นๆเพื่อให้มีสมบัติที่ดีขึ้นและเป็นพืชที่ไม่ต้องใช้น้ำและยาฆ่าแมลง
-การลดขยะ เช่น การนำเศษผ้าที่เหลือจากการตัดเย็บมาทอแทรกทำให้เกิดผ้าผืนใหม่ที่มีลวดลายและผิวสัมผัสแตกต่างจากเดิม การใช้เส้นใยรีไซเคิลจากขวด PET การนำเศษผ้าหรือเสื้อผ้าเก่ามาตะกุยให้กลายเป็นเส้นใยแล้วนำกลับมาทอเป็นผืนผ้าใหม่โดยไม่ต้องใช้น้ำในการย้อมสีเลย
-การเพิ่มมูลค่า เช่น การนำผ้าค้างสต๊อกเพิ่มลวดลายกราฟิกด้วยการพิมพ์ หรือการนำเสื้อผ้ามือสองมาแต่งแต้มด้วยลวดลายบาติกกลายเป็นเสื้อใหม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก ทำให้วัสดุที่เกือบจะเป็นขยะ กลายมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นของผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่ามากขึ้น
 
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ต้นแบบภายใต้คอนเซ็ปต์ Circular Economy 
โดย...ฮักคราม  เปลี่ยนขยะให้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นใหม่ ได้นำผ้าเศษที่เหลือจากการตัดเสื้อผ้า เศษผ้าจากหัวม้วนที่เหลือจากการทอ นำมาแยก เรียงสี แล้วนำไปทอใหม่ เพื่อให้เกิดผ้าที่มีเท็กซ์เจอร์แตกต่างจากที่เคยทำ ผ้าที่ได้นี้ไม่ต้องผ่านกระบวนการย้อมสีอีก ทำให้ลดการใช้น้ำและพลังงาน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และได้นำไปออกแบบตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า และ กระเป๋า และอื่น ๆ เป็นคอลเล็คชั่นใหม่ สร้างมูลค่าเพิ่มได้เป็นอย่างมาก














สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ โทร. 0 2713 5492 - 9 ต่อ 402

สิ่งทอ,สิ่งทอ