หน้าแรก / THTI Insight / ความเคลื่อนไหวอุตสาหกรรม / 3 แนวทางในการแก้ไขห่วงโซ่อุปทานของสินค้า fast-fashion ได้อย่างตรงจุด

3 แนวทางในการแก้ไขห่วงโซ่อุปทานของสินค้า fast-fashion ได้อย่างตรงจุด

กลับหน้าหลัก
22.01.2562 | จำนวนผู้เข้าชม 14706

3 แนวทางในการแก้ไขห่วงโซ่อุปทานของสินค้า fast-fashion ได้อย่างตรงจุด

“ธุรกิจ fast-fashion เป็นธุรกิจที่มุ่งเน้นการขายเสื้อผ้าจำนวนมากในราคาถูก ซึ่งตลอดกระบวนการผลิตเสื้อผ้าแต่ละชิ้นนั้น จะส่งผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การจากวิจัยชี้ให้เห็นว่าเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง”


จากรายงานการวิจัยที่ชื่อว่า 'The global environmental injustice of fast fashion,' ซึ่งถูกตีพิมพ์ในวารสารอนามัยสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยวอชิงตันในเซนต์หลุยส์ ได้ประเมินห่วงโซ่อุปทานสำหรับสินค้า fast-fashion และแนะนำการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้น

Christine Ekenga ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่ Brown School และผู้เขียนร่วมเขียนรายงานแสดงความคิดเห็นว่า "นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมของ fast-fashion ซึ่งเป็นปัญหาความไม่ยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก"

ประเด็นที่สำคัญที่ถูกหยิบยกจากรายงานฉบับดังกล่าว ประกอบด้วย

1. การผลิต (Production)

จุดเริ่มตันของปัญหาห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ คือ การผลิตเส้นใย (Fibers) ทั้งเส้นธรรมชาติและเส้นใยสังเคราะห์ (โพลีเอสเตอร์)  ในกระบวนการผลิตนำ้และยาฆ่าแมลงถือเป็นองค์ประกอบหลักที่ใช้ในกระบวนการผลิตระดับต้นน้ำ ขณะที่กระบวนการฟอกย้อมและตกแต่งสำเร็จ มีปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต โดยหากไม่บำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่แม่น้ำ จะก่อให้เกิดการสะสมโลหะหนักและสารพิษอื่น ๆ ที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของคนและสัตว์

2. โรงงานอุตสาหกรรม (Manufacture)

พบว่า แรงงานกว่า 40 ล้านคนทั่วโลกที่อยู่ในภาคการผลิต โดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง (LMIC) จะเป็นประเทศฐานการผลิตเสื้อผ้ากว่าร้อยละ 90 ของโลก กลุ่มประเทศเหล่านี้จะมีโครงสร้างทางการเมืองและการจัดการองค์กรที่ยังไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้การบังคับใช้เกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ผลคือแรงงานมีความเสี่ยงอันตรายจากการทำงาน รวมถึงอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจเนื่องจากปัญหาฝุ่นละออง และอันตรายของกล้ามเนื้อและกระดูกเนื่องจากการเคลื่อนไหวซ้ำ ๆ มีการรายงานด้านสุขภาพของประเทศกลุ่ม LMIC ระบุว่า มีผู้ป่วยด้วยโรคปอด มะเร็ง ระบบต่อมไร้ท่อ และระบบสืบพันธุ์ เป็นต้น ในส่วนของการบาดเจ็บและการเสียชีวิต มีรายงานเป็นระยะ ๆ เช่น โรงงาน Rana Plaza ถล่มในบังคลาเทศปี 2013 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไป 1,134 คน เป็นภัยอันตรายที่คนงานตัดเย็บเสื้อผ้าต้องเผชิญ

3. ผู้บริโภค (Consumer)

นักวิจัยกล่าวว่าความไม่ยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมยังคงดำเนินต่อไปตราบใดที่มีการขายเสื้อผ้า โมเดลของธุรกิจในกลุ่ม fast-fashion สนับสนุนให้ผู้บริโภคใช้เสื้อผ้าเพียงหนึ่งครั้ง แต่ในความเป็นจริงชาวอเมริกันโดยเฉลี่ยจะทิ้งเสื้อผ้าและสิ่งทอประมาณ 80 ปอนด์ต่อปี เท่ากับพื้นที่ฝังกลบเกือบร้อยละ 5 ในแต่ละปีจะมีเสื้อผ้าที่ใช้แล้วประมาณ 500,000 ตันที่ถูกส่งออกจากสหรัฐอเมริกาไปยังต่างประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศกลุ่ม LMICs โดยในปี 2015 สหรัฐอเมริกาส่งออกเสื้อผ้าที่ใช้แล้วมูลค่ามากกว่า 700 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เสื้อผ้ามือสองที่ขายไม่ได้ในตลาดสหรัฐอเมริกาถูกบีบอัดและส่งออกไปต่างประเทศเพื่อ "คัดเกรด" โดยใช้แรงงานค่าแรงต่ำในกลุ่มประเทศ LMIC และถูกขายในตลาดมือสอง เสื้อผ้าที่ไม่ได้ขายในตลาดจะกลายเป็นขยะมูลฝอยตามแม่น้ำ และสวนสาธารณะ สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศ LMICs ที่ระบบจัดการขยะยังไม่แข็งแกร่ง

ในการแก้ไขปัญหาไม่ใช่เพียงแค่ระดับบุคคล แต่เป็นความพยายามของทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยมีปัจจัยที่คาดว่าจะผลักดันให้ปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไข โดยการนำเอานวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพื่อผลักดันในเกิดความยั่งยืน รวมถึงนโยบายการค้า และการปรับพฤติกรรมผู้บริโภค

1. Sustainable fibres (เส้นใยที่ยั่งยืน)

เส้นใยเซลลูโลส หรือเส้นใยโปรตีนจากธรรมชาติ เป็นแนวคิดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงสุขภาพของผู้บริโภค เช่น เส้นใยไลโอเซลล์ (lyocell) ที่ผลิตจากเซลลูโลสของไม้ไผ่ ในขั้นตอนการผลิตสารเคมีที่ใช้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้มากกว่าร้อยละ 99 Sustainable fibres จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของการผลิตสิ่งทอ

2. ความยั่งยืนและนโยบายด้านการค้า (Corporate sustainability and trade policy)

ควรกำหนดและบังคับใช้เกณฑ์ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลทั่วโลก รวมถึงในระดับอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งเสริมกระบวนการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมสุขภาพ และเกิดความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันประเทศที่มีรายได้สูงควรส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานและอนามัยสิ่งแวดล้อมผ่านนโยบายและข้อบังคับการค้า แม้ว่าระเบียบในการทำงานและกฎระเบียบสิ่งแวดล้อมจะบังคับใช้ภายในประเทศเท่านั้น แต่มีหลากหลายวิธีที่ผู้กำหนดนโยบายสามารถลดอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมระดับโลกได้ สิ่งเหล่านี้อาจรวมถึงภาษีนำเข้าสำหรับเสื้อผ้าและสิ่งทอ หรือการกำหนดน้ำหนักหรือปริมาณที่นำเข้าต่อปีจากกลุ่มประเทศ LMIC โดยเสื้อผ้าที่ผลิตในประเทศ LMIC บางตัวเริ่มควบคุมการนำเข้าเสื้อผ้าแล้ว

3. ผู้บริโภค

ผู้บริโภคในประเทศที่มีรายได้สูงถือเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจ ในการสนับสนุนบริษัทที่มีการดำเนินงานที่สามารถลดผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการรับรองและยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรม ผู้บริโภคจะต้องตระหนักถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และประเมินว่าบริษัทใดบ้างที่มีมาตรฐานระดับสูง และมีแนวทางปฏิบัติเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน สุภาษิตโบราณที่ว่า "น้อยแต่มาก" จะเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคหากประเด็นด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมแฟชั่นได้รับการแก้ไข ผู้บริโภคสามารถมีส่วนร่วมในการส่งเสริมความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกด้วยการซื้อเสื้อผ้าคุณภาพสูงซึ่งใช้งานได้นานขึ้น ซื้อของที่ร้านค้ามือสอง ซ่อมเสื้อผ้าที่พวกเขามีอยู่แล้ว และซื้อจากผู้ค้าปลีกที่มีซัพพลายเชนที่โปร่งใส

ที่มา : www.just-style.com

เรียบเรียงโดย : อิสเรศ วงศ์เสถียรโสภณ (ศูนย์ข้อมูลและดิจิทัลอุตสาหกรรม สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ)

ภาวะเศรษฐกิจสิ่งทอ,fast-fashion,ห่วงโซ่อุปทาน,เส้นใย,เสื้อผ้า