หน้าแรก / THTI Insight / องค์ความรู้ / "แนวโน้มผืนผ้ากับการออกแบบแฟชั่น 2014 / 2015 (ตอนที่ 2)"

"แนวโน้มผืนผ้ากับการออกแบบแฟชั่น 2014 / 2015 (ตอนที่ 2)"

กลับหน้าหลัก
21.10.2557 | จำนวนผู้เข้าชม 1184

เขียน/เรียบเรียงโดย อาจารย์ดุจหทัย วงษ์กะพันธ์

             ต่อเนื่องจากบทความเรื่องแนวโน้มผืนผ้ากับการออกแบบแฟชั่น 2014 /2015 ที่ได้กล่าวถึงการจัดงานแสดงสิ่งทอต่างๆภายใต้ “European Fabric Fairs” กิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นในงานมีความน่าสนใจและบางกิจกรรมยังช่วยเป็นแรงผลักดันและสร้างกำลังใจให้ผู้ประกอบการด้านสิ่งทอพัฒนาสิ่งทอที่มีคุณภาพที่ดีมีคุณสมบัติที่หลากหลายเพื่อรองรับต่อความต้องการของกลุ่มอุตสหกรรมแฟชั่นที่จะนำสิ่งทอต่างๆเหล่านั้นไปต่อยอดให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคต่อไป
 
             ในครั้งนี้จะเป็นการกล่าวเฉพาะเจาะจงลงไปที่แนวโน้มสำหรับการพัฒนาและสร้างสรรค์สิ่งทอและผืนผ้าในช่วงฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว 2014 / 15 ที่ได้มี การนำเสนอในงานแสดงสิ่งทอที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา (September 2013) ทั้งนี้สามารถสรุปแนวโน้มและแนวทางการพัฒนาและสร้างสรรค์ผืนผ้าสำหรับฤดูกาลนี้ได้ทั้งสิ้น 4แนวโน้ม ดังนี้
 
แนวโน้มสิ่งทอแบบที่ 1 “Fabrics with a three-dimensional effect” การสร้างสรรค์มิติบนผืนผ้า
 
             มีหลายวิธีการที่ทำให้การสร้างสรรค์ผ้าให้เกิดมิตินั้นมีความน่าสนใจ ทั้งการทำให้เกิดลวดลายนูนจากการเย็บนวมประกบผ้า 2 ชิ้นเข้าด้วยกัน หรือผิวสัมผัสพิเศษบางอย่างที่เกิดขึ้นจากการใช้เส้นด้ายที่แปลกใหม่หรือใช้โครงสร้างการทอแบบใหม่ๆ จนกระทั่งการตกแต่งผืนผ้าในกระบวนการท้ายสุด เช่นการเคลือบผ้าเพื่อเพิ่มคุณสมบัติพิเศษบางอย่าง หรือการตกแต่ง การเย็บ การปักวัสดุอื่นๆลงบนผืนผ้า รวมถึงการพิมพ์ลายผ้าด้วยเช่นกันโดยในฤดูกาลนี้นิยมการตกแต่งรายละเอียดและสร้างสรรค์ผืนผ้าให้เกิดกลิ่นอายของความโรแมนติกโดยเฉพาะลวดลายของการทอผ้ายกให้เกิดลายนูน (Jacquards) และลายพิมพ์ต่างๆ นำเสนอภาพสักษณ์ที่ดูซับซ้อนละเอียดอ่อนดังเช่นงานที่เกิดจากกระบวนการในการผลิตที่มีคุณภาพสูง
 
แนวโน้มสิ่งทอแบบที่ 2 “Double face Fabrics” ผ้าสองหน้า
 
             ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ช่วยในการสร้างสรรค์ผ้าให้มีคุณสมบัติที่เหมาะกับประโยชน์ใช้สอยที่หลากหลาย และสามารถนำผ้าที่มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันนั้นมาผสมเข้าด้วยกัน (Hybrid Fabrics) ด้วยวิธีการต่างๆ เช่นการซ้อนผ้าหลายชั้นเพื่อให้ได้ผ้าที่มีคุณสมบัติที่ดีขึ้น การเชื่อมติดผ้าที่แตกต่างกัน 2 ชนิดให้กลายเป็นผ้าผืนเดียวกันที่มีพื้นผิว ผิวสัมผัส หรือสีด้านหน้าและด้านหลังแตกต่างกัน (Bonded Fabrics) โดย Bonding เป็นเทคนิคใหม่ที่พึ่งพัฒนาขึ้นไม่นานมานี้ และมีความโดดเด่นมากในช่วงฤดูกาลนี้ (Autumn/Winter 2014/15) ใบบางครั้งมีการแทรกโฟมเข้าไปอีกชั้นเพื่อให้เกิดผืนผ้าที่ดูมีปริมาตรและสามารถออกแบบงานที่ต้องการให้เห็นรูปทรงที่ชัดเจนได้
 
 
 
แนวโน้มสิ่งทอแบบที่ 3 “Hazy softness and lightness” ความนุ่มนวลและความเบา
 
            ผิวสัมผัสที่นุ่มนวลนี้ถูกนำเสนอในรูปของผ้าสักหลาดขนแพะ ผ้าขนสัตว์ และผ้าขนแกะโดยใช้สีสันที่สดใสนอกจากนี้แล้วก็ยังมีผ้ากำมะหยี่เนื้อนุ่มที่กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในฤดูกาลนี้ ซึ่งบางโรงงานได้มีการฟอกผ้ากำมะหยี่ให้มีภาพลักษณ์ที่ลำลองมากขึ้น ทั้งย้อมแล้วฟอกและพิมพ์แล้วฟอก
 
 
แนวโน้มสิ่งทอแบบที่ 4 “Overprinting fabric” การพิมพ์ซ้อน
 
            ลายพิมพ์นับเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับผ้าในช่วงฤดูกาลนี้ มีการนำผ้าหลายชนิดมาทำการพิมพ์ลายลงไป ทั้งผ้าทอยกลาย (Jacquards), ผ้าขนสัตว์ (Wools), ผ้าสักหลาดหนา (Tweeds), ผ้าไหม (Silks), ผ้าไหมผสม (Silk blends), ผ้าฝ้าย (Cotton) และผ้าวิสโคส(Viscose) ซึ่งเป็นไปได้ทั้งการพิมพ์ลายซ้อนทับลงบนผ้าที่มีลายทอในตัวอยู่แล้ว หรือการพิมพ์ลายใหม่ซ้อนทับลงบนผ้าที่ผ่านการพิมพ์ลายมาแล้วรวมทั้งการทำรายละเอียดตกแต่งซ้อนลงบนผ้าที่มีลวยลายอยู่แล้วด้วย
 
           จากแนวโน้มในเรื่องของสิ่งทอที่กล่าวมาโดยส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของเทคนิคและวิธีการในการสร้างสรรค์ผืนผ้า หากแต่ถ้าพูดถึงลวดลายที่ได้รับความนิยมในช่วงฤดูกาลนี้ หลักๆก็จะเป็นลายดอกไม้ (Floral) ในรูปแบบต่างๆ, ลายที่เกิดจากการวาดมือ (Hand drawn design) ซึ่งจะเป็นลวดลายของดอกไม้ หรือภาพวิวทิวทัศน์ ธรรมชาติ, การผสมผสานภาพดอกไม้กับลายตารางรูปแบบต่างๆ, ลวดลายสัตว์ แต่จะเป็นสัตว์ที่แสดงอารมณ์ในลักษณะก้าวร้าวเล็กน้อย เช่น สิงโตคำราม หรือลายหนังของสัตว์เลื้อคลาน และมีการใช้สีเมทัลลิก (สีโลหะ) แทรกลงไปในลวดลายหรือในการออกแบบเพื่อให้เกิดความน่าสนใจ สะดุดตา
 
          มีนักออกแบบและแบรนด์เสื้อผ้าที่มีชื่อเสียงได้นำแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ไปประยุกต์ใช้กับการออกแบบอย่างหลากหลาย หากแต่ทุกแบรนด์ก็จะมีวิธีการนำแนวโน้มเหล่านี้ไปใช้ในแนวทางของตนเอง ประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับเอกลักษณ์และทิศทางที่แบรนด์ของตนต้องการนำเสนอต่อผู้บริโภค ดังภาพตัวอย่างต่อไปนี้
 
แนวโน้มสิ่งทอแบบที่ 1 “Fabrics with a three-dimensional effect” การสร้างสรรค์มิติบนผืนผ้า
 
 
 
 
ภาพตัวอย่างผ้าจากงานPremière Vision ที่กรุงปารีสประเทศฝรั่งเศสที่มา: Textile Outlook International No.166, หน้า 58 และ 63
 
 
 
ภาพตัวอย่างผลงานการออกแบบแฟชั่นจากนักออกแบบและแบรนด์ระดับโลก
 
 
 
          ภาพตัวอย่างทั้งหมดเป็นภาพผลงานการออกแบบของแบรนด์ Balenciaga, Valentino, Dolce &Gabbanaและ MiuMiuจะเห็นได้ว่าทุกแบรนด์นำคำสำคัญ (Keyword)ที่ได้จากแนวโน้มการออกแบบสิ่งทอและแฟชั่นที่เกิดขึ้นมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับแบรนด์ตนในรูปแบบที่แตกต่างกันโดยในแนวโน้มที่ 1 นี้ว่าด้วยเรื่องของการสร้างมิติให้กับผืนผ้าด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งการประดับตกแต่ง หรือการสร้างสรรค์รายละเอียดลงบนผืนผิวของตัวผ้า เช่น Balenciaga นำผ้า 2 ชนิดมาซ้อนกันเพื่อสร้างมิติที่เกิดขึ้นจากการอัดผ้าที่มีลวดลายของการถักให้ปรากฎเป็นมิติลายถักบนหนัง ส่วน Valentino, Dolce &Gabbanaและ MiuMiu ใช้วิธีการประดับตกแต่งด้วยวัสดุที่หลากหลายนำมาปักเย็บติดลงบนผืนผ้า เพื่อเพื่มมูลค่าและความวิจิตรให้กับงานออกแบบ ทั้งนี้สำหรับ MiuMiuนั้นมีการผสมผสานวัสดุที่ดูหรูหราเข้ากับผ้าพลาสติกที่มีความโปรงใสเพื่อให้เป็นเสื้อผ้าที่ดูหรูหรามีลูกเล่นแต่ยังคงใส่ได้ในชีวิตประจำวัน
 
 
 
แนวโน้มสิ่งทอแบบที่ 2 “Double face Fabrics” ผ้าสองหน้า
 
 
 
ภาพตัวอย่างผลงานการออกแบบของนักออกแบบและแบรนด์ระดับโลกสำหรับฤดูกาล ใบไม้ร่วง 2014 (Fall 2014)
 
 
 
 
ที่มา: www.style.com
 
          ภาพตัวอย่างนี้เป็นผลงานการออกแบบของแบรนด์ Yohji Yamamoto, Issey Miyake, Chalayan, Celine และ Tod’sจะเห็นได้ว่าแบรนด์ต่างๆเหล่านี้มีการออกแบบโดยใช้คำสำคัญ (Keyword) ของแนวโน้มการออกแบบในเรื่องของการใช้ผ้าสองหน้า คือผ้าที่2 ด้านเป็นผ้าต่างชนิดกัน หรือมีสีที่แตกต่างกัน ทั้งนี้นำมาใช้ทั้งในส่วนของการสร้างสรรค์รายละเอียดการตกแต่งแบบ Yohji Yamamoto และนำมาทำเป็นโครงเสื้อผ้าหลักที่นำเสนอการใช้ผ้าสองหน้าในช่วงของปกเสื้อ หรือกระโปรงป้ายที่เมื่อมีการก้าวเดินก็จะทำให้เห็นความแตกต่างของด้านนอกและด้านในได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งการใช้ผ้าสองหน้านี้ส่งผลให้งานออกแบบดูมีเส้นที่คมชัด เรียบร้อย และสวยงามมาก
 
 
 
แนวโน้มสิ่งทอแบบที่ 3 “Hazy softness and lightness” ความนุ่มนวลและความเบา
 
 
 
         ภาพตัวอย่างนี้เป็นผลงานการออกแบบของแบรนด์Paul & Joe, Celine, Valentino, 3.1 Phillip Lim และ Lanvinเป็นการใช้ผ้าที่มีผิวสัมผัสนุ่มนวลนุ่มมืออย่างเช่นผ้าขนสัตว์ ผ้าสักหลาด และผ้ากำมะหยี่เนื้อนุ่ม หากแต่ตามแนวโน้มการออกแบบจะไม่ใช้ผ้าขนสัตว์ที่เป็นสีธรรมชาติ แต่เป็นการใช้ผ้าขนสัตว์ที่มีสีสันสดใส ในฤดูกาลนี้หลายๆแบรนด์จึงนำผ้าขนสัตว์สีสันสดใสมาสอดแทรกไว้ในคอลเลคชั่นของตนเอง โดยใช้ผสมผสานกับผ้าชนิดอื่นๆและสีอื่นๆที่เป็นแนวทางการออกแบบของแบรนด์ตน
 
 
 
แนวโน้มสิ่งทอแบบที่ 4 “Overprinting fabric” การพิมพ์ซ้อน
 
 
 
          ภาพตัวอย่างนี้เป็นผลงานการออกแบบของแบรนด์ 10 Crosby Derek Lam, Kenzo, John Galliano และ BottegaVenetaเป็นงานออกแบบที่เน้นเรื่องเทคนิคในการทำลวยลายผ้าพิมพ์ซึ่งตามแนวโน้มการออกแบบจะเน้นการพิมพ์ซ้อนลงบนผ้าที่มีลายพิมพ์อยู่แล้ว การพิมพ์ลายผ้าลงบนผ้าที่มีพื้นผิวการทอที่ชัดเจน การพิมพ์ลายผ้าลงบนผ้าทอยกลาย (Jacquards)และการพิมพ์ลายผ้าลงบนผ้าที่มีความโปรงแสงและนำผ้ามาซ้อนกันซึ่งให้ความรู้สึกของการซ้อนลายเช่นกัน การใช้เทคนิคต่างๆที่กล่าวมาทำให้เกิดลูกเล่นของลายผ้าที่ส่งผลให้ลวดลายที่เกิดขึ้นดูมีมิติและน่าสนใจมากขึ้น หลายๆแบรนด์เพิ่มความสนุกด้วยการใช้ผ้าหลายๆลายในชุดเดียวกัน ถึงแม้การใช้ลายพิมพ์หลายลายในชุด 1 ชุดจะดูสนุกและน่าสนใจ แต่ก็มีความเสี่ยงเพราะอาจจะทำให้ชุดดูรกและมากจนเกินไปหากเลือกใช้ลายและใช้คู่สีที่ไม่เหมาะสม แต่จากตัวอย่างที่เลือกมานั้นมีการผสมลายที่ดูลงตัว เป็นเพราะเลือกที่จะใช้ผ้าที่เห็นลายชัดผสมกับผ้าที่ลายไม่ชัดเจนมากนัก ถึงแม้จะใช้ในปริมาณที่ใกล้เคียงกันก็ตาม ดังรูปที่ 2 จากซ้าย หรือในรูปที่ 3 เป็นการใช้หลายลายที่คุมด้วยสีในโทนใกล้เคียงกันก็ทำให้ลวยลายดูกลมกลืน
 
 
 
ลวยลายผ้า: ลาย Floralลายดอกไม้ในรูปแบบต่างๆ โดยส่วนมากจะเป็นลายที่ไม่ชัดเจน อาจมองเป็นภาพกึ่งนามธรรมและลาย Landscape ลายภูมิทัศน์ต่างๆ
 
 
 
 
 
          ภาพตัวอย่างนี้เป็นผลงานการออกแบบของแบรนด์ Paul & Joe, Valentino, Dolce &Gabbanaและ Alexander Wang เป็นการออกแบบเสื้อผ้าที่ใช้ผ้าลายดอกไม้และลายทิวทัศน์ ภาพดอกไม้ที่ดูนามธรรม ไม่ได้เป็นลายที่เห็นเป็นดอกไม้ชัดเจน สื่อสารออกมาตามแนวทางการออกแบบและเอกลักษณ์ของแต่ละแบรนด์ได้อย่างลงตัวและน่าสนใจ นอกจากนี้แล้วยังมีหลายๆแบรนด์เลือกใช้ผ้าสีเมทัลลิก (สีโลหะ) ในคอลเลคชั่นหรือแทรกอยู่ในลายผ้าด้วยเช่นกัน จากตัวอย่างที่เห็น รูปที่ 2 จากซ้ายเป็นผลงานการออกแบบของแบรนด์ Valentino ซึ่งเห็นได้ชัดว่าใช้สีเมทัลลิกในลวดลายและใช้ได้อย่างลงตัวสวยงาม

สิ่งทอ,แนวโน้มการออกแบบสิ่งทอ