หน้าแรก / THTI Insight / ความเคลื่อนไหวอุตสาหกรรม / เคนยา ประตูการค้าและการลงทุนในแอฟริกา

เคนยา ประตูการค้าและการลงทุนในแอฟริกา

กลับหน้าหลัก
28.09.2560 | จำนวนผู้เข้าชม 1824

ภาพทุ่งหญ้า ป่าไม้ และการดำรงชีวิตของสัตว์ป่าน้อยใหญ่ตามรายการสารคดี คงเป็นภาพคุ้นตาที่คนไทยได้เห็นเกี่ยวกับประเทศ เคนยา ประเทศหนึ่งในทวีปแอฟริกา แต่ถ้ามีโอกาสมองลึก ๆ หันมองสังเกตการพัฒนาของเคนยาในด้านอื่น ๆ ก็จะเห็นได้ว่า เคนยาไม่ใช่ประเทศที่จะมีความน่าสนใจเฉพาะด้านทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเท่านั้น เพราะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เคนยาได้พัฒนาประเทศให้มีบทบาททางเศรษฐกิจ สามารถการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศให้เป็นประตูสู่การค้าการลงทุนในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก เห็นได้จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของเคนยาในปี 2559 ที่มีการเติบโตสูงถึงร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับปี 2558 โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ การเกษตร แร่ธาตุ ก่อสร้าง เทคโนโลยี และธุรกิจ SME

         ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ส่งเสริมการพัฒนาของเคนยา คือ ความมีเสถียรภาพทางการเมืองอันส่งผลให้การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแผนการพัฒนาของรัฐบาลเคนยา ภายใต้การนำของนายอูฮูรู มุยไก เคนยาตา ประธานาธิบดีเคนยา ระหว่างปี 2556 – 2560 มุ่งเน้นการพัฒนาเคนยาให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการลงทุนของแอฟริกา ด้วยการดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ การอำนวยความสะดวกเพื่อการลงทุนต่างๆ การมีมาตรการคุ้มครองการลงทุนต่างชาติเพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุน การส่งเสริมความหลากหลายทางเศรษฐกิจ และการให้ความสำคัญในการพัฒนาผู้ประกอบการ SME เพื่อผลักดันให้ตัวเลขจากการค้าการลงทุนจากภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศมีมูลค่าเป็นร้อยละ 32 ของตัวเลข GDP รวมถึงแผนการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านชลประทานและระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งในประเทศ อาทิ การสร้างท่าเรือที่เมืองลามู (LAMU) และเพิ่มท่าเทียบเรือขนถ่ายตู้สินค้าแห่งที่สองที่เมืองมอมบาซา (Mombasa) ซึ่งเป็นเมืองท่าที่สำคัญ ทำให้เพิ่มโอกาสให้กรุงไนโรบีเป็นเมืองหลวงที่มีการลงทุนอันดับต้น ๆ จากนักลงทุนต่างชาติสำหรับการเข้ามาลงทุนในแอฟริกา และกรุงไนโรบียังได้รับการพัฒนาให้มีจุดแข็งในฐานะศูนย์กลางการบินในภูมิภาคอีกด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบัน เคนยามีการลงทุนจากต่างชาติแล้วประมาณ 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการลงทุนจากบริษัทชั้นนำทั้งจากเอเชีย ยุโรป รวมถึงจากประเทศไทย อาทิ  บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เข้าไปลงทุนทางด้านพลังงาน  และ บริษัทในเครือดุสิตธานี ลงทุนในกลุ่มโรงแรม

         นอกจากนี้ รัฐบาลเคนยายังได้กำหนดโยบาย Vision 2030 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในสาขาต่างๆ อาทิ การเงิน แร่ธาตุ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน  เป็นต้น มุ่งส่งเสริมการส่งออกของภาคอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อให้มีสัดส่วนเพิ่มเป็นร้อยละ 7 ของ GDP  และเพิ่มโอกาสการลงทุนในสาขาที่เคนยายังต้องการพัฒนา อาทิ เกษตร สิ่งทอ เคมี เหล็ก ยา ยานยนต์ เพื่อกระตุ้นภาคการค้าระหว่างประเทศ

         อย่างไรก็ดี คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การท่องเที่ยว เป็นสาขาอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ให้เคนยาอย่างมหาศาล ซึ่งรัฐบาลเคนยาพยายามจะเพิ่มมิติทางการท่องเที่ยวให้หลากหลายมากยิ่งขึ้นกว่าการท่องเที่ยวซาฟารี โดยมุ่งขยายสร้างที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว รีสอร์ทซิตี้ โรงแรมระดับพรีเมี่ยมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากเอเชียและยุโรป นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้นักลงทุนจากเอเชียมาลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจการโรงแรมและการท่องเที่ยวมากขึ้นอีกด้วย

         เทคโนโลยีเป็นอีกสาขาอุตสาหกรรมหนึ่งที่รัฐบาลเคนยาให้ความสำคัญ โดยได้ร่วมมือกับรัฐบาลเกาหลีใต้อัดฉีดเม็ดเงินมูลค่ากว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของเคนยาในสาขาดังกล่าว อีกทั้งยังได้สร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษสำหรับสาขาเทคโนโลยี ซึ่งคาดว่าจะเกิดการจ้างงานไม่น้อยกว่า 1.7 หมื่นตำแหน่ง

         ปัจจุบัน เคนยาเป็นสมาชิกของเขตการค้าเสรีไตรภาคี (The Tripartite Free Trade Area: TFTA) ที่ครอบคลุมประชากรราว 625 ล้านคน ซึ่งมีข้อตกลงที่ประสานผลประโยชน์ร่วมกันของ 3 กลุ่มในภูมิภาค ได้แก่ ประชาคมแอฟริกาตะวันออก (EAC) ประชาคมการพัฒนาภูมิภาคแอฟริกาภาคใต้ (SADC) และตลาดร่วมแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาใต้ (COMESA) ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มนี้มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศรวมกันมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

         สำหรับโอกาสทางการค้าและการลงทุนของไทยในเคนยานั้นยังเปิดกว้าง โดยเคนยาถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก มีเครือข่ายการเชื่อมโยงคมนาคมที่ดี มีท่าเรือสำคัญ มีเส้นทางรถไฟและการบินเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งใช้เป็นจุดกระจายสินค้าไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกได้อย่างดี  เคนยายังมีศักยภาพทางการท่องเที่ยวสูง มีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่น่าสนใจ แต่ธุรกิจด้านการโรงแรม รีสอร์ทยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ นอกจากนี้ ชาวเคนยานิยมออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น ทำให้ธุรกิจร้านอาหารมีโอกาสเติบโตสูง

         โอกาสทางการค้าการลงทุนในเคนยาเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพที่สามารถขยายตลาดเข้าไปได้ ถือเป็นการเปิดตลาดการค้าการลงทุนแห่งใหม่ที่น่าสนใจในภูมิภาคแอฟริกา ที่สามารถเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้านของเคนยาได้ สำหรับการค้าระหว่างไทยและเคนยาในช่วงปี 5 ที่ผ่านมา (2555-2559) มีมูลค่าการค้าเฉลี่ยปีละ 199.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามาตลอดเฉลี่ยปีละ 160.60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็ก ผ้า กระดาษ เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญได้แก่ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ สินแร่ ผักและผลไม้ เป็นต้น

 

ที่มา: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ - http://globthailand.com/kenya_0010/

การค้า, การลงทุน, ความเคลื่อนไหวสิ่งทอ, ตลาด, เคนยา, แอฟริกา