หน้าแรก / THTI Insight / ข้อมูล นำเข้า-ส่งออก / สถานการณ์การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคม ปี 2559

สถานการณ์การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคม ปี 2559

กลับหน้าหลัก
31.12.2559 | จำนวนผู้เข้าชม 1835

สถานการณ์การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคม ปี 2559

มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในรูปเงินเหรียญสหรัฐตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71* ในระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคม ปี 2559 ขยายตัวได้ร้อยละ 29.68 (ร้อยละ 36.20 ในหน่วยของเงินบาท) จากเดิมในช่วง10 เดือนแรกของปี 2558 ที่มีมูลค่า 9,542.89 ล้านเหรียญ-สหรัฐ (319,839.16 ล้านบาท) มาอยู่ที่ 12,375.32ล้าน-เหรียญสหรัฐ (435,608.04ล้านบาท) นับเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในอันดับที่ 3 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.94 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย อย่างไรก็ตามหากนำมูลค่าดังกล่าวข้างต้นหักออกด้วยการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 5,975.88ล้านเหรียญสหรัฐ (209,731.21 ล้านบาท) ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 3.05 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.70 ในหน่วยของเงินบาท)

สถานการณ์การส่งออก
สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ คือทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูปในสัดส่วนร้อยละ 51.71 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย และเติบโตสูงถึงร้อยละ 89.38เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558จากการส่งออกไปยังสวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ตลาดหลักใน 3 อันดับแรกที่มีมูลค่าขยายตัวกว่า 1.44 เท่า, 1.17 เท่า และ 39.88 เท่า ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการส่งออกทองคำเดือนตุลาคมเพียงเดือนเดียวพบว่า มีมูลค่าลดลงร้อยละ 38.91ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับราคาทองคำในเดือนดังกล่าวที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 4.5 มาอยู่ที่ระดับราคาเฉลี่ย 1,266.59เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ (http://www.kitco.com)โดยได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินเหรียญสหรัฐหลังการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนธันวาคม

เครื่องประดับแท้เป็นสินค้าส่งออกสำคัญในอันดับที่ 2 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 24.49ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวม และมีมูลค่าลดลงร้อยละ4.38โดยการส่งออก เครื่องประดับทองลดลงร้อยละ 3.33 จากการส่งออกไปยังตลาดส่วนใหญ่ได้น้อยลง ขณะที่ตลาดหลักสองอันดับแรกซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดกว่าครึ่งหนึ่งอย่างฮ่องกงและสหรัฐอเมริกาก็เติบโตได้เพียงเล็กน้อยร้อยละ 0.14 และร้อยละ 0.37 ตามลำดับ ส่วนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสวิตเซอร์แลนด์ ตลาดสำคัญรองมายังสามารถขยายตัวได้ดี เครื่องประดับเงินปรับตัวลดลงร้อยละ 3.85 จากการส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกา และเยอรมนี ที่ครองส่วนแบ่งรวมกันกว่าร้อยละ 60 ได้ลดลงร้อยละ 10.59 และร้อยละ 3.86 ตามลำดับ เครื่องประดับแพลทินัม มีมูลค่าหดตัวลงร้อยละ 13.36อันเนื่องมาจากการส่งออกไปยังหลายตลาดสำคัญได้ลดลง โดยเฉพาะฮ่องกง ตลาดอันดับ 2 ที่มีมูลค่าลดลงต่อเนื่องร้อยละ 52.44แม้ว่าการส่งออกไปยังญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้บริโภคเครื่องประดับแพลทินัมรายใหญ่ของโลกและเป็นตลาดอันดับ 1 ของไทยจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 10.85 ก็ตาม

เพชร เป็นสินค้าส่งออกรายการสำคัญในอันดับ 3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.56 และมีมูลค่าลดลงร้อยละ 5.77 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย โดยเพชรเจียระไนซึ่งเป็นสินค้าหลักในหมวดนี้ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.75 จากการส่งออกไปยังตลาดในอันดับ 2 อย่างเบลเยียม ที่มีมูลค่าลดลงร้อยละ 16.26 แม้ว่าการส่งออกไปยังฮ่องกงตลาดที่ครองส่วนแบ่งสูงสุดจะเติบโตได้ร้อยละ 3.30 ก็ตาม

พลอยสีเป็นสินค้าส่งออกอันดับที่ 4 ในสัดส่วนร้อยละ 7.68 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทย และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 โดยสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้เป็นพลอยเนื้อแข็งเจียระไน (ทับทิม แซปไฟร์ และมรกต)เติบโตได้ร้อยละ 8.67 เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดหลักใน 4 อันดับแรกทั้งฮ่องกง สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ และอินเดีย ล้วนขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 17.36, ร้อยละ 12.30, ร้อยละ 16.63 และร้อยละ 15.21 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนปรับตัวลดลงร้อยละ 6.45อันเป็นผลจากการส่งออกไปยังฮ่องกง ตลาดอันดับ 1หดตัวลงร้อยละ 9.73ส่วนสหรัฐอเมริกาและสวิตเซอร์แลนด์ ตลาดในอันดับ 2 และ 3 ยังสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 44.29 และร้อยละ 82.67 ตามลำดับ

เครื่องประดับเทียมเป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.72 ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.98จากการส่งออกไปยังบางตลาดได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ตลาดหลักใน 3 อันดับแรกทั้งลิกเตนสไตน์ สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ยังคงหดตัวลงร้อยละ 0.82,ร้อยละ 9.42 และร้อยละ 5.12 ตามลำดับ
สถานการณ์การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย

1.jpg

สวิตเซอร์แลนด์เป็นตลาดส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยที่มีมูลค่าสูงสุดในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ในสัดส่วนร้อยละ 32.91ด้วยอัตราการเติบโตกว่า 1.27 เท่าอันเนื่องมาจากการส่งออกทองคำฯ ซึ่งเป็นสินค้าหลักในสัดส่วนราวร้อยละ 95 ได้เพิ่มขึ้นกว่า 1.4 เท่าอีกทั้งการส่งออกสินค้ารองลงมาอย่างเครื่องประดับทอง ก็มีมูลค่าสูงขึ้นร้อยละ 10

ฮ่องกงเป็นตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญในอันดับ 2 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 17.22และมีอัตราการขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.74จากการส่งออกสินค้าหลักไม่ว่าจะเป็นเพชรเจียระไนเครื่องประดับทอง และพลอย-เนื้อแข็งเจียระไน ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.30, ร้อยละ 0.14 และร้อยละ 17.36 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการเติบโตในอัตราที่ลดลง

สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกในอันดับที่ 3คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.73 หากแต่มีมูลค่าลดลงร้อยละ 3.98

อันเป็นผลจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับแท้ ในสัดส่วนราวร้อยละ 74 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครื่องประดับเงินได้ลดลงร้อยละ 10.59ส่วนเครื่องประดับทองยังสามารถเติบโตได้เล็กน้อยร้อยละ 0.37

สิงคโปร์นับเป็นตลาดส่งออกในอันดับ 4ในสัดส่วนร้อยละ 8.51และมีมูลค่าสูงขึ้นถึงร้อยละ 91.78 โดยเป็นผลจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างทองคำฯ ในสัดส่วนราวร้อยละ 91 ได้เพิ่มขึ้นกว่า 1.17 เท่า ขณะที่การส่งออกสินค้าสำคัญลำดับถัดมาอย่างเครื่องประดับเทียมหดตัวลงร้อยละ 5.12

ส่วนตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยที่สำคัญในอันดับ 5 คือ ออสเตรเลียด้วยสัดส่วนร้อยละ 5.60และขยายตัวกว่า 3.84 เท่า จากการส่งออกสินค้าหลักอย่างทองคำฯ ในสัดส่วนราวร้อยละ 79ได้สูงขึ้นกว่า 39.88 เท่า นอกจากนี้ไทยยังสามารถส่งออกเครื่องประดับเงินและเครื่องประดับทองสินค้าลำดับถัดมาได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.26 และร้อยละ 10.98ตามลำดับ

สถานการณ์การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย

2.jpg

ทั้งนี้หากพิจารณามูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในรูปเงินเหรียญสหรัฐ (ไม่รวมทองคำ) ไปยังตลาด/ภูมิภาคต่างๆ ดังตารางที่ 2 จะเห็นได้ว่า ในช่วง 10เดือนแรกของปี 2559 ลดลงร้อยละ 3.05เนื่องจากไทยส่งออกสินค้าไปยังหลายตลาดสำคัญได้ลดลงโดยเฉพาะตลาดหลักเดิมอย่างสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่มีมูลค่าลดลงร้อยละ 10.41 และร้อยละ 4.22 ตามลำดับโดยการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปที่ลดลงนั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอจากหลายปัจจัย รวมถึงการเดินหน้ากระบวนการเจรจาออกจากสหภาพยุโรปของสหราช-อาณาจักรยังบั่นทอนบรรยากาศทางธุรกิจในยุโรปอีกด้วย มีผลทำให้ชาวยุโรปกังวลต่อเศรษฐกิจจึงลดการใช้จ่ายซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็น ซึ่งส่งผลให้ไทยส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงินไปยังกลุ่มประเทศยุโรปได้น้อยลง

ส่วนสหรัฐอเมริกา ที่แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญหลายตัวจะปรับตัวดีขึ้น หากแต่มีความไม่แน่นอนด้านนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่จึงทำให้อุปสงค์ของผู้บริโภคต่อสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างอัญมณีและเครื่องประดับชะลอตัวลง

การส่งออกไปยังญี่ปุ่น และจีน มีมูลค่าลดลงร้อยละ 16.71และร้อยละ 0.28 ตามลำดับ โดยมีปัจจัยหลักมาจากสภาพเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศดังกล่าวชะลอการเติบโตมีผลทำให้อุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ และส่งผลต่อการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยให้ลดลงตามไปด้วย

ส่วนมูลค่าการส่งออกไปยังอาเซียนลดลงร้อยละ 11.82 ส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจที่ซบเซาลง อีกส่วนหนึ่งมาจากการส่งออกเครื่องประดับเทียมไปยังสิงคโปร์ซึ่งเป็นตลาดที่ครองส่วนแบ่งสูงสุดในอาเซียนได้ลดลงมาก อันอาจเป็นเพราะสิงคโปร์หันไปนำเข้าจากประเทศอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะจากเวียดนาม ซึ่งบริษัทผลิตเครื่องประดับเทียมในเครือบริษัท Swarovskiได้ย้ายฐานการผลิตจากไทยเข้าไปตั้งโรงงานในเวียดนามเมื่อสองปีที่ผ่านมา

ขณะที่การส่งออกไปยังฮ่องกง ตลาดอันดับ 1 ของไทยขยายตัวได้ในอัตราที่ลดลง โดยมีมูลค่าเติบโตเพียงเล็กน้อยร้อยละ 0.82 อันอาจเนื่องมาจากการชะลอการบริโภคสินค้าของประเทศคู่ค้าหลักของฮ่องกงอย่างจีน ซึ่งครองส่วนแบ่งเกือบครึ่งหนึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปจึงทำให้ฮ่องกงนำเข้าสินค้าจากไทยเพื่อส่งออกต่อไปยังประเทศคู่ค้าดังกล่าวลดลงตามไปด้วย

สำหรับตลาดส่งออกของไทยในอันดับถัดมาที่ยังสามารถขยายตัวได้ได้แก่ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง อินเดีย ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก รวมถึงรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช ที่ต่างมีมูลค่าเติบโตร้อยละ 6.14, ร้อยละ 17.96, ร้อยละ 11.78 และร้อยละ 17.82 ตามลำดับ โดยเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเหล่านี้ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้า จึงทำให้ผู้มีกำลังซื้อสูงต้องการบริโภคอัญมณีและเครื่องประดับมากขึ้น ทั้งนี้ สินค้าไทยที่เติบโตได้ดีในตลาดตะวันออกกลางเป็นเครื่องประดับทองและเพชรเจียระไน ในตลาดอินเดียเป็นเพชรเจียระไน ในขณะที่เครื่องประดับเงินเป็นสินค้าศักยภาพในประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก รวมถึงรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช

สถานการณ์การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย

3.jpg

บทสรุป
การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในรูปของเงินเหรียญสหรัฐช่วง10 เดือนแรกของปีนี้ สามารถขยายตัวได้ร้อยละ 29.68(ร้อยละ 36.20เมื่อพิจารณาในหน่วยเงินบาท) แต่หากพิจารณาถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยเมื่อไม่รวมการส่งออกทองคำฯ จะพบว่าปรับตัวลดลงร้อยละ 3.05 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.70 เมื่อพิจารณาในหน่วยเงินบาท) และหากพิจารณาถึงมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เมื่อหักออกด้วยมูลค่าการส่งออกทองคำฯ และมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ส่งกลับจากการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศพบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสุทธิมีมูลค่าลดลงร้อยละ 6.99 (หดตัวร้อยละ 2.53 เมื่อพิจารณาในหน่วยเงินบาท) ดังตารางที่ 3

4.jpg

สถานการณ์การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย
ปัจจุบันการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงของไทยในรูปเงินเหรียญสหรัฐ (ไม่รวมทองคำ) ในช่วง 10เดือนแรกของปี 2559 มีมูลค่าลดลงตามความซบเซาของภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินเหรียญ-สหรัฐที่แข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่ง จึงทำให้สินค้าไทยแพงกว่าประเทศอื่นในสายตาของผู้บริโภค อีกทั้งยังอาจมีสาเหตุมาจากขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยลดลงโดยเฉพาะสินค้าสำเร็จรูปทั้งเครื่องประดับเงินและเครื่องประดับทองที่ไทยส่งออกไปยังตลาดโลกได้ลดลงนับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา

เนื่องจากอัญมณีและเครื่องประดับเป็นสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่อเศรษฐกิจค่อนข้างสูง ฉะนั้นในช่วงเดือนที่เหลือต่อเนื่องถึงปีหน้า ผู้ประกอบการจึงต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าและปัจจัยเสี่ยงต่อการฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ที่ยังไม่ชัดเจนจนกว่าจะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคม 2560 และวิกฤติดอยช์แบงก์ (Deutsche Bank) ธนาคารใหญ่ที่สุดของเยอรมนีที่อาจลุกลามเป็นวิกฤตการเงินโลก หลังสหรัฐฯ สั่งปรับเงินจากที่ไปเกี่ยวพันกับการซื้อขายตราสารหนี้ในครั้งก่อนเกิดวิกฤต Subprime เมื่อเดือนกันยายน 2551 เป็นเงินจำนวนถึง 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐรวมถึงสงครามกลางเมืองในบางประเทศของกลุ่มตะวันออกกลาง ปัญหาการเมืองภายในประเทศอย่างเช่นเกาหลีใต้และตุรกี ภัยก่อการร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อในหลายประเทศและภัยธรรมชาติ ปัจจัยเหล่านี้กดดันให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ไม่มากนัก

เพื่อรักษาความสามารถในการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ผู้ประกอบการควรประเมินสถานการณ์ แนวโน้ม และความน่าจะเป็นที่เหตุการณ์ต่างๆ จะเกิดขึ้น พร้อมทั้งวางแผนรับมือไว้ล่วงหน้า เน้นสร้างสรรค์สินค้ารูปแบบใหม่โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตให้มากขึ้น ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยปัจจุบันเครื่องประดับที่ใช้เทคโนโลยี 3D Printing กำลังได้รับความนิยมในต่างประเทศ อีกทั้งควรสำรวจความต้องการของตลาดทั้งในเรื่องรูปแบบและราคา เพื่อจะได้ขายสินค้าได้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมีแนวโน้มซื้อเครื่องประดับราคาไม่สูง อาทิ National Jeweler ได้ทำการสำรวจธุรกิจเครื่องประดับในสหรัฐฯ พบว่าแหวนหมั้นและแหวนแต่งงานที่จำหน่ายได้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2559 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 804 เหรียญ-สหรัฐ หรือญี่ปุ่นกำลังนิยมเครื่องประดับแฮนด์เมดราคาต่ำกว่า 10,000 เยน (ราว 3,100 บาท) เป็นต้น ซึ่งหนทางเหล่านี้น่าจะช่วยเพิ่มส่วนแบ่งตลาดของไทยในตลาดโลกได้

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
6 ธันวาคม 2559

*พิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71 ว่าด้วย “ไข่มุกธรรมชาติหรือไข่มุกเลี้ยง รัตนชาติหรือกึ่งรัตนชาติ โลหะมีค่า โลหะที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า และของที่ทำด้วยของดังกล่าว เครื่องเพชรพลอย และรูปพรรณที่เป็นของเทียม เหรียญกษาปณ์”

export,git,ตุลาคม 255,นำเข้าส่งออกอัญมณี,สถานการณ์