หน้าแรก / THTI Insight / องค์ความรู้ / โอกาสของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยในตลาดมุสลิม

โอกาสของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยในตลาดมุสลิม

กลับหน้าหลัก
19.04.2567 | จำนวนผู้เข้าชม 357

Thailand Textile and Garment Industrial Profile

เรื่อง โอกาสของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยในตลาดมุสลิม

ปัจจุบัน เทรนด์การค้าโลกให้ความสำคัญกับตลาดมุสลิมโลกมากขึ้น จากปัจจัยด้านจำนวนประชากรมุสลิมและศักยภาพทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศมุสลิม โดยผลการศึกษาของ Pew Research Center พบว่า ประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามมีการเติบโตเร็วกว่าศาสนาอื่น และคาดว่าในปี 2050 จะมีชาวมุสลิมจำนวน 2.8 พันล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.67 ของประชากรโลกทั้งหมด ภูมิภาคที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่มากที่สุด ได้แก่ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่า และตะวันออกกลาง-แอฟริกาเหนือ สำหรับประเทศไทยคาดการณ์ว่าชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2050 จะมีชาวมุสลิมจำนวน 5.6 ล้านคน และ DinarStandard คาดการณ์ว่า ชาวมุสลิมจะใช้จ่ายสูงถึง 2.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2024 และมีอัตราการเติบโตสะสมต่อปี (CAGR) 5 ปี คิดเป็นร้อยละ 3.1 ทำให้ประเทศผู้ส่งออกสินค้าและบริการทั่วโลกแสวงหาโอกาสและช่องทางการค้าจากตลาดมุสลิมโลกกันทั้งสิ้น สำหรับประเทศไทยนับว่ามีศักยภาพในการเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักเพื่อบุกตลาดมุสลิมโลก ในฐานะผู้ผลิตสินค้าฮาลาลที่หลากหลาย ทั้งอาหารและของใช้อุปโภคบริโภค 

สำหรับสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ นอกจากเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลฮาลาล อาหารฮาลาล การท่องเที่ยวฮาลาล เวชภัณฑ์ฮาลาลแล้ว ยังมีแฟชั่นสำหรับชาวมุสลิม ทั้งนี้ พบว่าประเทศที่ครองอันดับประเทศที่มีการใช้จ่ายสำหรับเครื่องแต่งกายและรองเท้ามากที่สุด ได้แก่ อิหร่าน ตุรกี และซาอุดิอาระเบีย ส่วนประเทศที่มี การส่งออกเสื้อผ้าไปยังตลาด OIC มากที่สุด ได้แก่ จีน ตุรกี และอินเดีย ซึ่งการเติบโตของความต้องการเสื้อผ้า ของชาวมุสลิม ทำให้แบรนด์แฟชั่นต่าง ๆ หันมาสนใจแฟชั่นสำหรับมุสลิมมากขึ้น เช่น แบรนด์ Dolce & Gabbana และ Nike เป็นต้น

ปัจจุบันประเทศในแถบอาเซียนมีประชากรมุสลิมราว 400 ล้านคน โดยอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในอาเซียน (และในโลก) ประมาณ 240 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของประชากรมุสลิมทั่วโลก นอกจากนี้ มาเลเซียและบรูไนก็มีประชากรมุสลิมเกินกว่าครึ่งของประชากรในประเทศ โดยมาเลเซียมีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามกว่าร้อยละ 60 จากประชากร 30 ล้านคน และบรูไน คิดเป็นร้อยละ 70 ของประชากรในประเทศ หรือ 4.3 แสนคนเป็นชาวมุสลิม สำหรับสิงคโปร์รวมถึงไทย แม้ประชากรส่วนใหญ่จะไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม แต่คิดเป็นร้อยละ 15 และร้อยละ 10 ของประชากรในประเทศตามลำดับ ก็เป็นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ดังนั้น ด้วยจำนวนประชากรมุสลิมในภูมิภาคอาเซียนที่มีอยู่จำนวนมาก ประกอบกับแนวโน้มของประชากรมุสลิมที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลกถึงปีละ คิดเป็นร้อยละ 1.5 ในช่วง 2 ทศวรรษข้างหน้า เปรียบเทียบกับประชากรที่นับถือศาสนาอื่นที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.7 ต่อปี การทำความเข้าใจในวิถีของชาวมุสลิม รวมถึงการผลิตสินค้าและบริการเพื่อรองรับความต้องการของประชากรมุสลิม จึงถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญ

รายละเอียดเพิ่มเติมตามไฟล์แนบ_'โอกาสของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยในตลาดมุสลิม'

สนับสนุน โดย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม

เรียบเรียง : สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ, ศูนย์ข้อมูลและดิจิทัลอุตสาหกรรม (แผนกข้อมูลอุตสาหกรรม)

ภายใต้โครงการศูนย์สารสนเทศอัจฉริยะอุตสาหกรรมแฟชั่น (อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนังและรองเท้า อัญมณีและเครื่องประดับ) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567

Textile Garment Profile, อุตสาหกรรม, สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, ตลาดมุสลิม, THTI, Fashion Intelligence Unit, FIU, FIU_'67