“ชินรดา” ผู้ผลิตกางเกงช้างรายใหญ่ของจังหวัดเชียงใหม่และประเทศ ไม่หวั่นจีนผลิตกางเกงช้างแข่ง งัดคุณภาพที่แตกต่างสู้ เผยออร์เดอร์ทะลักตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 พุ่ง 20% จี้รัฐชูแบรนดิ้งการเกงช้างเป็น Soft Power ของไทย เผยลูกค้าต่างชาติทั้งญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย จะเดินทางมาเยี่ยมชมโรงงานที่อำเภอดอยสะเก็ดภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 นางกิ่งกาญจน์ สมร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชินรดา การ์เม้นท์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่าย “กางเกงช้าง” รายใหญ่ของประเทศไทย มีฐานการผลิตอยู่ในตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ จากกรณีที่จีนผลิตกางเกงช้างออกมาและส่งมาขายที่ประเทศไทย ซึ่งทราบมาราว 3-4 ปีแล้วว่าจีนผลิตกางเกงช้างเหมือนหรือเลียนแบบของไทย แต่ที่ผ่านมาอาจยังไม่เป็นกระแสข่าว
ซึ่งปัจจัยสำคัญที่บ่งบอกว่าบริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีจีนก็คือ ยอดขายของบริษัทที่เพิ่มขึ้น 20% ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 และเมื่อเกิดกระแสข่าวจีนผลิตกางเกงช้างในขณะนี้ ส่งผลให้มีลูกค้า โทร.เข้ามาให้กำลังใจ รวมถึงส่งข้อความมาให้กำลังใจผ่านช่องทางการสื่อสารทุกช่องทาง โดยยังคงเชื่อมั่นในสินค้าของบริษัท และยืนยันที่จะสนับสนุนการเกงช้างของไทยต่อไป
ขณะเดียวกัน ลูกค้าต่างชาติทั้งญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย ก็จะเดินทางมาเยี่ยมชมโรงงานที่อำเภอดอยสะเก็ดภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้
ทั้งนี้ หากมองในเชิงเปรียบเทียบระหว่างกางเกงช้างของไทยภายใต้การผลิตของชินรดา การ์เม้นท์ และกางเกงช้างของจีน พบว่ามีความแตกต่างกันในเชิงคุณภาพ ซึ่งกางเกงช้างของจีนส่วนใหญ่จะใช้ผ้ายืดและผ้าหนังไก่ในการตัดเย็บ ซึ่งเป็นผ้าที่มีราคาถูก และประเทศจีนก็ถือเป็นโรงงานผลิตผ้าแหล่งใหญ่ อาจมีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่า จึงสามารถผลิตกางเกงช้างได้ในราคาถูกกว่าไทย และอาจเน้นลูกค้าคนละกลุ่มกับของบริษัท
ในส่วนกางเกงช้างของไทยที่ผลิตโดยชินรดา การ์เม้นท์ จะใช้ผ้าแมมเบิร์ต ผ้าเรยอน คุณภาพดีและราคาแพงกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางลายช้างบนผืนผ้าจะมีมาตรฐานของลวดลายที่สม่ำเสมอและเป็นเอกลักษณ์ ใช้วิธีการตัดเย็บ 2 ตะเข็บ ที่มีความแน่นและทนของรอยตะเข็บ รวมถึงเทคนิคการทำแพตเทิร์นที่มีความโดดเด่นที่คู่แข่งลอกเลียนแบบได้ยาก
ขณะที่ราคาขายส่งก็ถือว่าถูกและจับต้องได้ ลูกค้าเข้าถึงได้ ซึ่งมีราคาตั้งแต่ตัวละ 40 บาท 65 บาท 80 บาท และหลักร้อยบาท โดยลูกค้ากลุ่มหลักของบริษัทเป็นกลุ่มพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ที่รับสินค้าของบริษัทไปขายต่อ รวมถึงลูกค้าต่างประเทศที่บริษัทมีสัดส่วนการส่งออกถึง 50%
ทั้งนี้ บริษัทผลิตกางเกงช้างมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ปัจจุบันผลิตสินค้ามากกว่า 100 ไอเท็ม ทั้งกางเกง เสื้อ กระโปรง ชุดเดรส กระเป๋า ที่มีทั้งลายช้างและลายอื่น ๆ มีกำลังการผลิตทุกกลุ่มสินค้าราว 2 พันชิ้นต่อวัน หรือมากกว่า 6 แสนชิ้นต่อปี
นางกิ่งกาญจน์กล่าวต่อว่า ในเรื่องการจดลิขสิทธิ์ บริษัทมองว่าคงยังไม่จดลิขสิทธิ์ เนื่องจากลายผ้าที่บริษัทนำมาตัดเย็บมีหลายลาย ไม่ใช่เฉพาะลายช้างเพียงลายเดียว และผู้ผลิตกางเกงช้างในประเทศไทยก็ไม่ได้มีบริษัทเพียงรายเดียว จึงมองประเด็นเรื่องการแบ่งปันในเชิงธุรกิจ ซึ่งในด้านสำคัญจะยิ่งทำให้กางเกงช้างเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น และจะส่งผลดีต่อบริษัทที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ที่สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและราคาไม่แพง ให้โอกาสพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยสามารถนำไปขายต่อ ได้มีอาชีพและมีรายได้ เป็นการสร้างผู้ประกอบการได้เพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทยังคงยืนยันและเชื่อมั่นว่ากางเกงช้างเป็น Soft Power 100% ของประเทศไทย และอยากให้รัฐบาลเร่งแบรนดิ้งกางเกงช้างให้เป็น Soft Power ส่งเสริม โปรโมตประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักผ่านสัญลักษณ์กางเกงช้าง อยากให้เป็นกระแสที่คนรู้จักทั่วโลก อยากให้กางเกงช้างเป็น Soft Power เข้าถึงนักท่องเที่ยว ซึ่งจะสร้างผลเชิงบวกในด้านภาพลักษณ์ของประเทศ
ที่มา : https://www.prachachat.net/local-economy/news-1495128