หน้าแรก / THTI Insight / ข้อมูล นำเข้า-ส่งออก / สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย เดือนมกราคม ปี 2566

สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย เดือนมกราคม ปี 2566

กลับหน้าหลัก
10.03.2566 | จำนวนผู้เข้าชม 871

สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย เดือนมกราคม ปี 2566

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71* ในเดือนมกราคม ปี 2566 ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.51 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2565 ที่มีมูลค่า 767.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่732.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นสินค้าส่งออกใน อันดับที่ 5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.62 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ หากนำมูลค่าดังกล่าวข้างต้นหักออกด้วยการส่งออก ทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 573.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือน เดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 1.19 

 ตารางที่ 1  มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยช่วงเดือนมกราคม ปี 2565 และปี 2566

 ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

สถานการณ์การส่งออก

สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดในเดือนแรกของปีนี้ คือ เครื่องประดับแท้ ในสัดส่วนร้อยละ 38.12 ของมูลค่าการ ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยโดยรวม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.92 โดยสินค้าส่งออกหลักคือ เครื่องประดับทอง ขยายตัวได้ร้อยละ 34.56 จากการส่งออกไปยังตลาดสำคัญ อันดับที่ 2 และ 5 อย่างอิตาลีและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้สูงขึ้นร้อยละ 810.82 และ 21.65 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออก ไปสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และฮ่องกง ลดลงร้อยละ 7.94, ร้อยละ 12.37 และร้อยละ 12.69 ตามลำดับ การส่งออก เครื่องประดับเงิน หดตัวลงร้อยละ 21.76 เนื่องจากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา เยอรมนี สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ตลาดสำคัญในอันดับที่ 1-4 ได้ลดลงร้อยละ 5.13, ร้อยละ 9.80, ร้อยละ 35.38 และร้อยละ 18.30 ส่วนฮ่องกงตลาดอันดับที่ 5 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.20 การส่งออกเครื่องประดับแพลทินัม ปรับตัวลงร้อยละ 64.42 จากการส่งออกไปยังตลาดสำคัญทั้ง 5 อันดับ อย่างญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฮ่องกง และสิงคโปร์ ลดลงร้อยละ 14.99, ร้อยละ 9.70, ร้อยละ 3.65, ร้อยละ 17.56 และร้อยละ 97.52 ตามลำดับ

ทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป เป็นสินค้าส่งออกในอันดับ 2 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 21.76 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย มีมูลค่าลดลงร้อยละ 14.81 โดยราคาทองคำในเดือนมกราคมเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับราคาเฉลี่ย 1,898.63 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ (https://www.kitco.com) โดยราคาทองคำที่เพิ่มขึ้นได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ การคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะชะลอการปรับจากอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงของสหรัฐอเมริกาและในหลายประเทศเศรษฐกิจ สร้างความกังวลต่อความไม่แน่นอนทาง เศรษฐกิจ จึงหนุนให้อุปสงค์ทองคำในตลาดโลกเพิ่มขึ้น

พลอยสี เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 3 มีสัดส่วนร้อยละ 21.22 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทย เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 74.31 โดยสินค้าส่งออกหลักใน หมวดนี้เป็นพลอยเนื้อแข็งเจียระไน (ทับทิม แซปไฟร์ และ มรกต) ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 78.88 จากการส่งออกไปยัง สหรัฐอเมริกา อิตาลี ฮ่องกง ฝรั่งเศส และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นตลาดสำคัญ 5 อันดับแรก ได้สูงขึ้นร้อยละ 79.48, ร้อยละ 360.54, ร้อยละ 60.82, ร้อยละ 165.50 และร้อยละ 10.35 ตามลำดับ พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 74.18 เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดสำคัญอันดับที่ 1-2 และ 4-5 อย่างสหรัฐอเมริกา อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 99.71, ร้อยละ 510.79, ร้อยละ 90.80 และร้อยละ 221.87 ตามลำดับ มีเพียงฮ่องกง ตลาดอันดับ 3 ที่ลดลงร้อยละ 14.03

เพชร  เป็นสินค้าส่งออกรายการสำคัญในอันดับ 4 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.51 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย ปรับตัวลดลงร้อยละ 38.95 โดยมีเพชรเจียระไนเป็นสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้ ซึ่งมูลค่าลดลง ร้อยละ 39.01 มาจากการส่งออกไปยังอินเดีย ฮ่องกง และ สหรัฐอเมริกา ตลาดในอันดับ 1, 2 และ 4 ได้ลดน้อยลงร้อยละ 68.43, ร้อยละ 30.06 และร้อยละ 21.43 ตามลำดับ ขณะที่เบลเยียมและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตลาดในอันดับที่ 3 และ 5 เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.57 และร้อยละ 103.19 ตามลำดับ

เครื่องประดับเทียม  เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.85 หดตัวลงร้อยละ 24.06 จากการส่งออกไปยังตลาดสำคัญใน 4 อันดับแรก อย่างสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง ลิกเตนสไตน์ และฝรั่งเศส ลดลงร้อยละ 20.48, ร้อยละ 8.44, ร้อยละ 48.57 และร้อยละ 16.29 ส่วนสหราชอาณาจักร ตลาดอันดับที่ 5 เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.13 ตามลำดับ

มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในเดือนมกราคมปี 2566 ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.19 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า โดยชะลอตัวต่อเนื่องจากช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 อันเนื่องมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจที่ก่อตัวขึ้นทั่วโลก รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อสูงกดดันให้อุปสงค์การบริโภคของโลกเริ่มลดลง และค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากช่วงปลายปีถึงมกราคม ปี 2566 จึงส่งผล กระทบต่อการส่งออกในเดือนแรกของปีนี้โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย อย่างสหรัฐอเมริกา อิตาลี เบลเยียม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.88, ร้อยละ 499.16, ร้อยละ 10.28, ร้อยละ 52.68, ร้อยละ 11.10 และร้อยละ 26.25 ตามลำดับ ส่วนตลาดอันดับที่ 3-6 อย่างฮ่องกง เยอรมนี อินเดีย และสหราชอาณาจักร ปรับตัวลดลงร้อยละ 20.03, ร้อยละ 0.96, ร้อยละ 68.50 และ ร้อยละ 35.74 ตามลำดับ

 ตารางที่ 2 มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยรายสินค้าในช่วงเดือนมกราคม ปี 2565 และปี 2566

 ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

การส่งออกไปยัง สหรัฐอเมริกา ยังสามารถเติบโต ได้ต่อเนื่อง จากการที่สินค้าสำคัญอย่างพลอยเนื้อแข็งและพลอย เนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเทียม ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 79.48, ร้อยละ 99.71 และร้อยละ 98.11 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน และเพชรเจียระไน ลดลงร้อยละ 7.94, ร้อยละ 5.13 และร้อยละ 21.43

มูลค่าการส่งออกไป อิตาลี ขยายตัวได้สูงจากการส่งออก เครื่องประดับทองซึ่งเป็นสินค้าหลัก (มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 61) รวมทั้งสินค้าลำดับรองลงมาอย่างพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อน เจียระไน และเครื่องประดับเงิน ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 810.82, ร้อยละ 360.54, ร้อยละ 510.79 และร้อยละ 148.92 ตามลำดับ

ส่วนการส่งออกไปยัง เบลเยียม ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเพชรเจียระไน (ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 87) ได้สูงขึ้นร้อยละ 7.57 รวมทั้งสินค้าลำดับถัดมาอย่างเครื่องประดับทอง และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่มขึ้นร้อยละ 275.48 และร้อยละ 106.84 ส่วนพลอยเนื้อแข็งเจียระไน ลดลงร้อยละ 4.42 

สำหรับการส่งออกไปยัง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นนั้นมาจากการส่งออกเพชรเจียระไน เครื่องประดับทอง และพลอยเนื้อแข็งเจียระไน ได้สูงขึ้นร้อยละ 103.19, ร้อยละ 21.65 และร้อยละ 230.09 ตามลำดับ ส่วนพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเงิน ลดลงร้อยละ 73.61 และร้อยละ 50.34 ตามลำดับ

ขณะที่การส่งออกไปยัง ญี่ปุ่น ซึ่งเติบโตได้นั้น เป็นผลจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งและ เนื้ออ่อนเจียระไน และเพชรเจียระไน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.17, ร้อยละ 91.37, ร้อยละ 221.87 และร้อยละ 4.39 ส่วนเครื่องประดับ แพลทินัม และเครื่องประดับเงิน ลดลงร้อยละ 14.99 และร้อยละ 34.55 ตามลำดับ

มูลค่าการส่งออกไปยัง สวิตเซอร์แลนด์ ที่เพิ่มขึ้นมาจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับทอง ได้สูงขึ้นร้อยละ 10.35, ร้อยละ 90.80 และร้อยละ 240.26 ขณะที่การส่งออกเครื่องประดับเทียมและเพชรเจียระไน ลดลงร้อยละ 0.28 และร้อยละ 73.68 ตามลำดับ 

สำหรับการส่งออกไป ฮ่องกง ที่มีมูลค่าลดลงนั้น เนื่องจากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการอย่างเพชรเจียระไน เครื่องประดับทอง พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเทียม ได้ลดลงร้อยละ 30.06, ร้อยละ 12.69, ร้อยละ 14.03 และร้อยละ 8.44 ตามลำดับ

ขณะที่การส่งออกไปยัง เยอรมนี ปรับตัวลงจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงิน (มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 70) และเครื่องประดับเทียม ลดลงร้อยละ 9.80 และร้อยละ 33.56 ตามลำดับ ส่วนเศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่าและเครื่องประดับทองยังขยายตัวได้

สำหรับการส่งออกไป อินเดีย ที่หดตัวลงนั้น เป็นผลจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเพชรเจียระไน (สัดส่วนสูงถึงร้อยละ 71) รวมทั้งสินค้าสำคัญรองมาอย่างอัญมณีสังเคราะห์ พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ต่างลดลงร้อยละ 68.43, ร้อยละ 70.92, ร้อยละ 23.23 และร้อยละ 41.18 ตามลำดับ

การส่งออกไป สหราชอาณาจักร ที่ลดลงนั้น มาจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับทองและเครื่องประดับเงิน (ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 78) รวมทั้งสินค้าสำคัญอย่างพลอยเนื้อแข็งเจียระไน ได้ลดลงร้อยละ 12.37, ร้อยละ 35.38 และร้อยละ 72.29 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับเทียมและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ยังขยายตัวได้ร้อยละ 56.13 และร้อยละ 16.89 ตามลำดับ

แผนภาพที่ 1 ตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วงเดือนมกราคม ปี 2566

ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

บทสรุป

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในเดือนมกราคม ปี 2566 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 4.51 แต่หากพิจารณาถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย เมื่อไม่รวมการส่งออกทองคำ หดตัวลงร้อยละ 1.19 และหากพิจารณาถึงมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เมื่อหักออกด้วยมูลค่าการส่งออกทองคำและมูลค่าสินค้าส่งกลับจากต่างประเทศ พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสุทธิ ลดลงร้อยละ 4.60 มีรายละเอียดดังตารางที่ 3 สำหรับสินค้าที่ยังเติบโตได้ดีของไทย คือ เครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน

 ตารางที่ 3 มูลค่าการส่งออกสุทธิของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในช่วงเดือนมกราคม ปี 2565 และปี 2566

 ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ทั้งนี้ สถานการณ์ส่งออกในเดือนแรกของปี 2566 ที่ผ่านมา พบว่า สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับยังคงหดตัวลงต่อเนื่อง นับจากไตรมาส 4 ของปีก่อน เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจหลายประการที่ส่งผลกระทบต่อหลายประเทศคู่ค้าของไทย รวมทั้งปัญหาวิกฤตพลังงานในยุโรป ซึ่งส่งผลต่อการบริโภคสินค้าและบริการของ ประชาชน ดังนั้น ผู้ประกอบการควรใช้การทำตลาดที่เน้นเกาะกระแส BCG สร้างการมีส่วนร่วมให้เป็นสินค้ารักษ์โลก มีแนวทางการลดก๊าซคาร์บอนในห่วงโซ่อุปทาน สร้างอัตลักษณ์ให้สินค้าเพื่อสร้างลักษณะเฉพาะให้เกิดกับสินค้า และใช้นวัตกรรมเข้ามาทำการตลาด ขณะที่การหาโอกาสจากตลาดที่มีจะกลับมามีบทบาทอย่างจีนจากการกลับมาเปิดประเทศ ประเทศตะวันออกกลาง รวมทั้งตลาดเกิดใหม่อย่างอินเดีย เพื่อเพิ่มช่องทางการค้าให้กับผู้ผลิตให้สามารถรักษาตลาดเดิมเพิ่มตลาดใหม่ได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาภาพรวมในปี 2566 นั้น ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้เตือนให้นานาประเทศให้คำนึงถึงสิ่งที่คาดไม่ถึงท่ามกลางโลกที่เสี่ยงต่อความตื่นตระหนกมากขึ้น เนื่องจากหลังวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ความขัดแย้งของยูเครน-รัสเซีย และแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดในซีเรียและตุรกี จึงควรเปลี่ยนความคิดของตัวเองให้มีความคล่องตัวมากขึ้นและมุ่งไปที่การสร้างความยืดหยุ่นในทุกระดับ เพื่อรับมือกับเรื่องที่คาดไม่ถึงได้ ส่วนภาพรวมนั้น คาดว่า อัตราเติบโตของโลกจะลดลงจากร้อยละ 3.4 ในปีก่อน มาอยู่ที่ ร้อยละ 2.9 ในปีนี้

ศูนยข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

มีนาคม 2566


*พิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71 ว่าด้วย “ไข่มุกธรรมชาติหรือไข่มุกเลี้ยง รัตนชาติหรือกึ่งรัตนชาติ โลหะมีค่า โลหะที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า และของที่ทำด้วยของดังกล่าว เครื่องเพชรพลอย และรูปพรรณที่เป็นของเทียม เหรียญกษาปณ์”

นำเข้าส่งออกอัญมณี, อุตสาหกรรม, อัญมณีและเครื่องประดับ, GIT, สถานการณ์, การส่งออก, Export, ปี 2566, สะสม 1 เดือน, มกราคม-มกราคม, มกราคม 2566, GIT Information Center