หน้าแรก / THTI Insight / ความเคลื่อนไหวอุตสาหกรรม / ความท้าทายและโอกาสของอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกาย ในปี 2566

ความท้าทายและโอกาสของอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกาย ในปี 2566

กลับหน้าหลัก
05.01.2566 | จำนวนผู้เข้าชม 5626

ความท้าทายและโอกาสของอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกาย ในปี 2566

ด้วยปัจจัยจากเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน ทั้งจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อต่อเนื่อง ปัญหาเงินเฟ้อในแต่ละประเทศที่สูงขึ้นจนต้องมีการปรับอัตราดอกเบี้ยส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้ริโภคที่ลดลง หรือปัญหาเรื่องต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น และภาวะการณ์ของตลาดที่ยังคงไม่แน่นอน ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องแต่งกายไปทั่วโลก ดังนั้น ในปี 2566 อาจเป็นปีที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง ขณะเดียวอาจจะเป็นทั้งโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมที่มีการปรับตัวด้วยเช่นกัน คาดการณ์ประเด็นสำคัญที่อาจเกิดขึ้น ประกอบด้วย 

ประเด็นที่ 1 : อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อาจต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และอุปสงค์ของผู้บริโภคลดลง ในปี 2566

ต้องยอมรับว่าสินค้าในกลุ่ม “เครื่องแต่งกาย” เป็นธุรกิจและ/หรืออุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนโดยผู้บริโภคเป็นหลัก ดังนั้น ปริมาณการค้าการผลิตของอุตสาหกรรมนี้ จึงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญและมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจมหภาค ทั้งนี้ ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น บวกกับต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น และการลดขนาดห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นความท้าทายที่แบรนด์หรือธุรกิจแฟชั่นกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ IMF ได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2566 จะชะลอตัว เช่นเดียวกันกับ World Trade Organization หรือ WTO คาดการณ์เศรษฐกิจการค้าโลก ปี 2566 จะเติบโตประมาณร้อยละ 1.0 ดังนั้น คาดการณ์ภาพรวมการค้าโลก (หมวดเครื่องแต่งกาย) ในปี 2566 จะเติบโตที่ประมาณร้อยละ 0.8-1.5

ประเด็นที่ 2 : แบรนด์แฟชั่นและผู้ค้าปลีกหลายรายมีแนวโน้มที่จะใช้ประโยชน์จากแหล่งวัตถุดิบที่หลากหลาย ควบคู่ไปกับการรักษาฐานผู้ขาย/คู่ค้ารายใหญ่ เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจบนความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น

ทั้งนี้ United States Fashion Industry Association หรือ USFIA ได้ทำการศึกษาเชิงเปรียบเทียบถึงแผนการดำเนินธุรกิจแฟชั่นในสหรัฐอเมริกา พบว่า เกือบร้อยละ 40 มีแผนที่จะหาแหล่งวัตถุดิบที่หลากหลายจากทั่วโลกเพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการทำงานร่วมกับ supplier ไปจนถึงปี 2567 เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจแฟชั่น และลดความเสี่ยงด้านการจัดหาวัตถุดิบในการผลิต ซึ่งจะเป็นการลดการนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศจีน (ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากวิกฤต supply chain ที่เกิดขึ้น) แน่นอนว่า เทรนด์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น คือ การสรรหาวัตถุดิบใกล้สถานที่ตั้ง หรือ Near Sourcing ซึ่งคาดว่าจะเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจแฟชั่น ในปี 2566

ประเด็นที่ 3 : ในปี 2566 กระบวนการสร้างความยั่งยืนในธุรกิจแฟชั่น (อาทิ แหล่งวัตถุดิบ สินค้าเครื่องแต่งกาย และวัสดุสิ่งทอ) จะมีความชัดเจนเพิ่มมากขึ้น

ธุรกิจแฟชั่นต่างพยายามที่จะพัฒนาห่วงโซ่อุปทานกลุ่มเครื่องแต่งกายให้มีความยั่งยืน มีความรับผิดชอบต่อสังคมและมีความโปร่งใสมากขึ้น โดยเป็นผลสืบเนื่องจากความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นจากผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ในธุรกิจ และการดำเนินตามกฎระเบียบข้อบังคับใหม่ ๆ เกี่ยวข้องกับภาคการค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีความสัมพันธ์และเกี่ยวเนื่องในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม

ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์แฟชั่นและผู้ค้าปลีกจำนวนมากต่างเริ่มเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ supplier ของตนเองสู่สาธารณะโดยความสมัครใจเพิ่มขึ้น เช่น การเปิดเผยถึงชื่อโรงงาน สถานที่ตั้ง และฟังก์ชั่นการผลิต พร้อมทั้งการเปิดเผยการปฏิบัติตามข้อกำหนดต่าง ๆ รวมถึงเทคโนโลยีหรือเครื่องมือต่าง ๆ สำหรับใช้ในการตรวจสอบย้อนกลับร่วมกันระหว่างแบรนด์กับ supplier เพื่อให้ทราบถึงคุณสมบัติของวัตถุดิบหรือวัสดุสิ่งทอนั่นเอง ทั้งนี้ ข้อมูล supplier ที่หลากหลายจะกลายเป็นโอกาสใหม่สำหรับธุรกิจแฟชั่นในการเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่อุปทานและปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น

และด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันต่างให้ความสำคัญเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น จะเห็นว่า ธุรกิจแฟชั่นจำนวนมากจึงเลือกใช้วัสดุสิ่งทอรีไซเคิลสำหรับการผลิตเครื่องแต่งกายเพิ่มมากขึ้น จึงนับเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำหรับธุรกิจแฟชั่น ในปี 2566 ด้วยเช่นกัน

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ที่มา : www.just-style.com และ Business Watch

Photo credit : www.just-style.com and The State of Fashion 2023

เรียบเรียง : ศูนย์ข้อมูลฯ (แผนกข้อมูลอุตสาหกรรม) สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ

ความเคลื่อนไหวสิ่งทอ, ความท้าทาย, โอกาส, ปี 2566, เครื่องแต่งกาย, THTI, Fashion Intelligence Unit, FIU, FIU_'66