หน้าแรก / THTI Insight / ข้อมูล นำเข้า-ส่งออก / สถานการณ์อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย เดือนเมษายน 2565

สถานการณ์อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย เดือนเมษายน 2565

กลับหน้าหลัก
02.06.2565 | จำนวนผู้เข้าชม 24481

ภาพที่ 1 แสดงภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย เดือนเมษายน 2565 

ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ในเดือนเมษายน 2565 พบว่า การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 545.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน (YoY) แบ่งเป็น (1) การส่งออกกลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 366.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 และ (2) การส่งออกกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 179.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ขณะที่ภาพรวมการนำเข้าของอุตสาหกรรมดังกล่าว มีมูลค่า 423.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 แบ่งเป็น (1) การนำเข้ากลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 301.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 และ (2) การนำเข้ากลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 121.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.1 และส่งผลให้ภาพรวมดุลการค้าเกินดุล คิดเป็นมูลค่า 122.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

และภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมดังกล่าว (สะสม) 4 เดือน (เดือนมกราคม-เมษายน 2565) พบว่า การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 2,330.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน (YoY) แบ่งเป็น (1) การส่งออก (สะสม) กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 1,548.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.0 และ (2) การส่งออก (สะสม) กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 781.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 ขณะที่ภาพรวมการนำเข้า (สะสม) 4 เดือนของอุตสาหกรรมดังกล่าว มีมูลค่า 1,796.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 แบ่งเป็น (1) การนำเข้า (สะสม) กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 1,294.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7 และ (2) การนำเข้า (สะสม) กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 502.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.5 และส่งผลให้ภาพรวมดุลการค้า (สะสม) เกินดุล คิดเป็นมูลค่า 533.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ภาพที่ 2 แสดงมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 4 ผลิตภัณฑ์หลัก 

เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกแยกตาม 4 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นใยประดิษฐ์ เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนเมษายน 2565 พบว่า ทั้ง 4 ผลิตภัณฑ์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่หากเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (MoM) พบว่า ปรับตัวลดลงในทุกรายการผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

ภาพที่ 3 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ เดือนเมษายน 2565 และ (สะสม) เดือนมกราคม-เมษายน 2565

การส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ ในเดือนเมษายน 2565 พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 88.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาและตุรกี ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 และ 16.4

และการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ (สะสม) 4 เดือน พบว่า มีมูลค่าการส่งออกรวม 351.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 16.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกไปยังตลาดหลัก 3 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย และตุรกี ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 24.7, 22.6 และ 66.8 ตามลำดับ 

ภาพที่ 4 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นด้าย เดือนเมษายน 2565 และ (สะสม) เดือนมกราคม-เมษายน 2565

การส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นด้าย ในเดือนเมษายน 2565 พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 60.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกไปตลาดโคลัมเบีย ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.3 ขณะที่การส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นด้ายไปยังตลาดญี่ปุ่นและจีนในเดือนนี้ ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.6 และ 9.7

และการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นด้าย (สะสม) 4 เดือน พบว่า มีมูลค่าการส่งออกรวม 266.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 25.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกไปยังตลาด 3 อันดับแรกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ได้แก่ ญี่ปุ่น บังกลาเทศ และจีน ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 20.3, 78.6 และ 10.5 ตามลำดับ

ภาพที่ 5 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ผ้าผืน เดือนเมษายน 2565 และ (สะสม) เดือนมกราคม-เมษายน 2565

การส่งออกผลิตภัณฑ์ผ้าผืน ในเดือนเมษายน 2565 พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 104.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกไปยังตลาดกัมพูชาและเมียนมา ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 81.7 และ 35.8 ขณะที่การส่งออกผลิตภัณฑ์ผ้าผืนไปยังตลาดเวียดนามในเดือนนี้ พบว่า ปรับตัวลดลงร้อยละ 13.7

และการส่งออกผลิตภัณฑ์ผ้าผืน (สะสม) 4 เดือน พบว่า มีมูลค่าการส่งออกรวม 450.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 19.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกไปยังตลาด 3 อันดับแรกเช่นเดียวกัน ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 12.4, 41.5 และ 61.7 ตามลำดับ 

ภาพที่ 6 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม เดือนเมษายน 2565 และ (สะสม) เดือนมกราคม-เมษายน 2565

การส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม ในเดือนเมษายน 2565 พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 179.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3 ขณะที่การส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มไปยังตลาดญี่ปุ่นและเบลเยียมในเดือนนี้ พบว่า ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.5 และ 51.2

และการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม (สะสม) 4 เดือน พบว่า มีมูลค่าการส่งออกรวม 781.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปยังตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกา ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 16.3 และตลาดญี่ปุ่น ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 0.4 

ภาพที่ 7 แสดงมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 3 ผลิตภัณฑ์หลัก

เมื่อพิจารณามูลค่าการนำเข้าแยกตาม 3 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนเมษายน 2565 พบว่า ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่หากเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (MoM) พบว่า การนำเข้ามีการปรับตัวลดลงในทุกรายการผลิตภัณฑ์ดังกล่าว  

ภาพที่ 8 แสดงมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์เส้นด้าย เดือนเมษายน 2565 และ (สะสม) เดือนมกราคม-เมษายน 2565

การนำเข้าผลิตภัณฑ์เส้นด้าย ในเดือนเมษายน 2565 พบว่า มีมูลค่าการนำเข้า 139.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากตลาดนำเข้าใน 3 อันดับแรกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4, 12.0 และ 22.0 ตามลำดับ

และการนำเข้าผลิตภัณฑ์เส้นด้าย (สะสม) 4 เดือน พบว่า มีมูลค่าการนำเข้ารวม 589.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 21.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นในตลาด 3 อันดับแรกเช่นเดียวกัน ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม นำเข้าเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 23.9, 23.8 และ 26.6 ตามลำดับ

ภาพที่ 9 แสดงมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าผืน เดือนเมษายน 2565 และ (สะสม) เดือนมกราคม-เมษายน 2565

การนำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าผืน ในเดือนเมษายน 2565 พบว่า มีมูลค่าการนำเข้า 162.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการนำเข้าผ้าผืนเพิ่มขึ้นจากตลาดไต้หวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.6

และการนำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าผืน (สะสม) 4 เดือน พบว่า มีมูลค่าการนำเข้ารวม 704.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 11.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากตลาดจีนและไต้หวัน นำเข้าเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 12.2 และ 43.2

ภาพที่ 10 แสดงมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม เดือนเมษายน 2565 และ (สะสม) เดือนมกราคม-เมษายน 2565

การนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม ในเดือนเมษายน 2565 พบว่า มีมูลค่าการนำเข้า 82.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากตลาดนำเข้าใน 3 อันดับแรกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน อิตาลี และเวียดนาม นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6, 38.9 และ 12.5 ตามลำดับ

และการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม (สะสม) 4 เดือน พบว่า มีมูลค่าการนำเข้ารวม 332.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลง (สะสม) ร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยนำเข้าลดลงจากตลาดจีนและเวียดนาม ปรับตัวลดลง (สะสม) ร้อยละ 7.7 และ 3.2 ขณะที่การนำเข้าเครื่องนุ่งห่มจากตลาดอิตาลี ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ในเดือนนี้ที่ร้อยละ 34.8

ภาพที่ 11 แสดงมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 4 ผลิตภัณฑ์หลัก เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน (MoM)

ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ใน 4 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นใยประดิษฐ์ เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนเมษายน 2565 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการส่งออกไปยังตลาด 3 อันดับแรกของแต่ละผลิตภัณฑ์ พบว่า ภาพรวมมูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงในทุกรายการผลิตภัณฑ์ 

ผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ พบว่า มูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการส่งออกไปยังตลาดอินโดนีเซียที่ในเดือนนี้ ปรับตัวลดลงร้อยละ 18.1 ขณะที่การส่งออกเส้นใยประดิษฐ์ไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาและตุรกี ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 และ 20.1 

ผลิตภัณฑ์เส้นด้าย พบว่า มูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงร้อยละ 16.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการปรับตัวลดลงไปยังตลาดหลักใน 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น โคลัมเบีย และจีน ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.6, 27.1 และ 29.3 ตามลำดับ

ผลิตภัณฑ์ผ้าผืน พบว่า มูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงร้อยละ 20.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการปรับตัวลดลงไปยังตลาดหลักใน 3 อันดับแรก ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา ปรับตัวลดลงร้อยละ 29.8, 17.9 และ 11.8 ตามลำดับ

และผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม พบว่า มูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงร้อยละ 15.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการปรับตัวลดลงไปยังตลาดหลักใน 3 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเบลเยียม ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.2, 27.0 และ 21.8 ตามลำดับ

ภาพที่ 12 แสดงมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 3 ผลิตภัณฑ์หลัก เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM)

และมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ใน 3 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนเมษายน 2565 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการนำเข้าใน 3 อันดับแรกของแต่ละผลิตภัณฑ์ พบว่า ภาพรวมมูลค่าการนำเข้าปรับตัวลดลงในทุกรายการผลิตภัณฑ์ (เช่นเดียวกันกับภาคการส่งออก) 

ผลิตภัณฑ์เส้นด้าย พบว่า มูลค่าการนำเข้าปรับตัวลดลงร้อยละ 17.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) โดยนำเข้าจากตลาดจีนและเวียดนาม นำเข้าลดลงร้อยละ 11.7 และ 12.2

ผลิตภัณฑ์ผ้าผืน พบว่า มูลค่าการนำเข้าปรับตัวลดลงร้อยละ 12.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการนำเข้าลดลงจากตลาดหลักใน 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน ไต้หวัน และเเวียดนาม นำเข้าลดลงร้อยละ 4.8, 23.2 และ 14.0 ตามลำดับ

และผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม พบว่า มูลค่าการนำเข้าปรับตัวลดลงร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) โดยนำเข้าลดลงจากตลาดอิตาลีและเวียดนาม นำเข้าลดลงร้อยละ 16.0 และ 20.1 

ภาพที่ 13 สรุปภาพรวมมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยไปยังตลาดสำคัญ (5 อันดับแรก) เดือนเมษายน 2565 และ (สะสม) เดือนมกราคม-เมษายน 2565

สรุปภาพรวมการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ในเดือนเมษายน 2565 มีมูลค่า 545.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อพิจารณาในภาพรวมมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยไปยังตลาดสำคัญ ใน 5 อันดับแรก จัดเรียงตามมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในเดือนดังกล่าว พบว่า มีเพียง 2 ตลาด คือ ตลาดสหรัฐอเมริกาและอินโดนีเซีย ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.1 และ 6.1 

ขณะที่ภาพรวมการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย (สะสม) เดือนมกราคม-เมษายน 2565 มีมูลค่าการส่งออกรวม 2,330.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 11.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยตลาดส่งออกใน 5 อันดับแรก มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในเกือบทุกตลาด ยกเว้นตลาดจีนที่ปรับตัวลดลง (สะสม) ร้อยละ 7.4 สืบเนื่องจากมาตรการ ZeroCovid ซึ่งส่งผลต่อการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยไปยังตลาดจีนปรับตัวลดลงทั้งในรายเดือนเมษายน 2565 และ (สะสม) 4 เดือน

สรุปประเด็นสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในประเทศ

ต้นทุนการผลิตที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย พบว่า ดัชนีราคาผู้ผลิตในเดือนเมษายน 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้น (สิ่งทอ +3.5%YoY และเครื่องนุ่งห่ม +1.8%YoY) จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มสิ่งทอ ได้แก่ ผ้าฝ้าย ผ้าใยสังเคราะห์ ผ้าดิบ และผ้าเช็ดตัว และกลุ่มเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ได้แก่ เครื่องแบบนักเรียนชาย/หญิง กางเกงสตรี/บุรุษ เสื้อยืด และถุงเท้า ซึ่งคาดว่าส่งผลต่อการกดดันกำไรของผู้ผลิตในประเทศ

การส่งออกสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย พบว่า ด้วยความต้องการสินค้าจากตลาดที่เป็นประเทศคู่ค้าหลัก (USA, Japan, Vietnam and Indonesia) มีแนวโน้มความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น จึงคาดว่าจะช่วยให้การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยตลอดในปีนี้ (ปี 2565) ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

-------------------------------------------------

ข้อมูลอ้างอิง : 

        ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

        กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์

-------------------------------------------------

จัดทำและเรียบเรียงโดย 

ศูนย์ข้อมูลและดิจิทัลอุตสาหกรรม (แผนกข้อมูลอุตสาหกรรม) 

สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ

2 มิถุนายน 2565

 

นำเข้าส่งออกสิ่งทอ, อุตสาหกรรม, สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, Import, Export, Textile, Clothing, ปี 2565, เดือนเมษายน, สะสม, 4 เดือน, THTI, Fashion Intelligence Unit, FIU, FIU_'65