หน้าแรก / THTI Insight / ความเคลื่อนไหวอุตสาหกรรม / การเติบโตอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมเพชร

การเติบโตอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมเพชร

กลับหน้าหลัก
23.08.2564 | จำนวนผู้เข้าชม 555

การเติบโตอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมเพชร

ปัจจัยต่างๆ เช่น นโยบายการคลังของสหรัฐและความต้องการเครื่องประดับของจีนช่วยกระตุ้นตลาดเพชรและเครื่องประดับเพชรในเวลานี้ แต่ภาวะเงินเฟ้อและความยุ่งยากอื่นๆ ก็กำลังรออยู่ในอนาคต

อุตสาหกรรมเพชรผ่านพ้นวิกฤติการระบาดของ Covid-19 ได้ดีกว่าที่คาดการณ์กันไว้มาก แม้ว่ากิจการหลายแห่งต้องฝ่าฟันช่วงเวลาที่สาหัสและยังคงไม่พ้นจากภาวะดังกล่าว แต่ก็มีหลายแห่งโดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2021 การส่งออกเพชรเจียระไนแล้วของอินเดียเพิ่มขึ้นร้อยละ 76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้าเพชรเจียระไนแล้วของสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 56 และยอดขายเพชรก้อนของ Alrosa และ De Beers เพิ่มขึ้นร้อยละ 73 (ตามแผนภูมิด้านล่าง)

การส่งออกเพชรเจียระไนของอินเดีย

การนำเข้าเพชรเจียระไนของสหรัฐ (ขนาดใหญ่กว่า 0.50 กะรัต)

ยอดขายเพชรก้อนของ Alrosa และ De Beers

ที่มา: Rapaport

การปิดกิจการช่วง Covid-19 ส่งผลให้เพชรเจียระไนขาดแคลนอย่างหนักเนื่องจากโรงงานในอินเดียมีปริมาณการผลิตลดลงมาก เมื่ออุปสงค์เพชรเจียระไนสูงกว่าที่คาดบวกกับปริมาณอุปทานลดลงจึงส่งผลให้ราคาเพชรเจียระไนพุ่งสูงขึ้น เศรษฐกิจที่กระเตื้องขึ้นในช่วงหลังโคโรนาไวรัสไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะอุตสาหกรรมเพชรและเครื่องประดับ การกระตุ้นจากรัฐบาลได้ช่วยเพิ่มอุปสงค์ในวงกว้างที่ส่งผลต่อตลาดการเงิน ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 38 จากปีก่อน และดัชนี 1-carat Rapnet Diamond Index (RAPI™) ก็เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 (ตามแผนภูมิด้านล่าง)

ดัชนี S&P 500 และ Rapnet 1-carat

คำถามสำคัญคือการเติบโตจะดำเนินต่อไปหรือไม่ ราคาเพชรเจียระไนที่เพิ่มสูงขึ้นจะยั่งยืนหรือไม่ และคาดหวังอะไรได้บ้างในอนาคต

Martin Rapaport ให้ความเห็นว่า สิ่งหนึ่งที่ช่วยได้มากคือการมองการเติบโตเป็นลำดับขั้นหรือเป็นคลื่น โดยคลื่นแต่ละลูกนั้นขับเคลื่อนด้วยปัจจัยที่แตกต่างกันไป การขึ้นลงของอุปทานสัมพันธ์กับการขึ้นลงของอุปสงค์ แล้วอุปทานและอุปสงค์เพชรก็สัมพันธ์กับแรงขับเคลื่อนที่หลากหลายทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองซึ่งอยู่นอกอุตสาหกรรมเพชร ตลาดหลักทรัพย์ที่เติบโตช่วยเพิ่มความมั่งคั่ง คนรุ่นมิลเลนเนียลสร้างกระแสสังคมที่ต่อต้านการบริโภคเพื่อแสดงฐานะ ขณะที่ภาคการเมืองก็ตัดสินใจใช้งบประมาณหลายล้านล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลสำคัญต่ออุปทาน อุปสงค์ และราคาของเพชร

แม้ Martin คาดว่าอุปทานเพชรจะมากเกินความต้องการในระยะสั้นเมื่อการผลิตของอินเดียกลับเข้าสู่สภาพเดิม แต่ผลกระทบต่อราคาเพชรเจียระไนอาจลดลงจากการที่เพชรก้อนมีราคาสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนในการซื้อเพชรกลับเข้าคลังสินค้ายังคงสูงอยู่เมื่อเข้าสู่ช่วงเทศกาลสำคัญและความต้องการเพิ่มสูงขึ้น

ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่สนับสนุนตลาดเพชรคือนโยบายด้านการเงินและการคลังของสหรัฐ รัฐบาลสหรัฐได้อัดฉีดเงินไปแล้ว 2.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือเท่ากับ 8,411 เหรียญสหรัฐต่อชาวอเมริกันหนึ่งคน ประธานาธิบดี Joe Biden กำลังจัดสรรงบประมาณเพิ่มอีก 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แม้ว่ายังคงไม่แน่ชัดว่าประธานาธิบดีจะใช้งบประมาณมากขนาดนั้นหรือไม่ แต่ตลาดก็ได้รับแรงขับเคลื่อนจากความคาดหวังว่านโยบายการเงินและการคลังของสหรัฐจะกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภค จึงทำให้เกิดความคาดหวังและส่งผลให้แนวโน้มในตลาดหุ้นสูงเป็นประวัติการณ์

Martin ยังเห็นว่า ควรพิจารณาด้วยว่าผู้บริโภคสหรัฐจะช่วยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้จีนอย่างชัดเจน เมื่อเงินไหลไปยังผู้บริโภคสหรัฐที่มีรายได้ระดับล่างและระดับปานกลางตามเป้าหมายที่ Biden กำหนดไว้ บริษัทอย่าง Walmart, Amazon และช่องทางการขายอื่นที่คล้ายกันก็จะขายสินค้านำเข้าจากจีนได้เพิ่มขึ้น ดังนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐจึงเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนไปในตัว

เนื่องจากสหรัฐและจีนเป็นตลาดเพชรสำคัญสองอันดับแรกของโลก Martin จึงคาดว่าความต้องการเพชรและเครื่องประดับจะแข็งแกร่งในช่วงปี 2021 และอาจต่อเนื่องไปถึงปี 2022 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ โดยแนวโน้มระยะสั้นหรือในช่วงหนึ่งปีอยู่ในระดับดีถึงยอดเยี่ยม

ส่วนแนวโน้มระยะยาวนั้นมีความซับซ้อนมากกว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจมากเกินไปจะนำมาซึ่งผลสืบเนื่อง ทั้งภาวะเงินเฟ้อที่กำลังจะเกิดขึ้นและการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยที่ตามมาติดๆ อัตราดอกเบี้ยจะไม่ได้ต่ำอยู่อย่างนี้ตลอดไป เป็นที่คาดการณ์กันว่าภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงมีผลกระทบสืบเนื่องเกิดขึ้นตามมา ไม่ว่าจะเป็นภาษีที่เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจแบบสังคมนิยม สงครามค่าเงิน ตลอดจนการปรับระบบสังคมและเศรษฐกิจให้เป็นแบบดิจิทัล ทั้งหมดนี้ล้วนรออยู่เบื้องหน้า

ข้อหนึ่งที่ควรตระหนักไว้คือไม่มีการเติบโตใดไร้จุดสิ้นสุด อุตสาหกรรมของเราจะต้องเผชิญกับความเป็นจริง โอกาส และความท้าทายใหม่ๆ แม้ว่าหนทางข้างหน้าจะแตกต่างอย่างมากจากสถานการณ์ในปัจจุบัน แต่คุณค่าบางประการจะยังคงฝังแน่นอยู่เช่นเดิม และอุตสาหกรรมก็ควรให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้

บทบาทของเพชรในแง่การเป็นของขวัญที่มีความหมาย การเก็บรักษามูลค่าในภาวะเงินเฟ้อ ความรับผิดชอบทางสังคม ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และการแบ่งปันคุณค่า ทั้งหมดนี้จะยังคงอยู่ แต่ธุรกิจเพชรและเครื่องประดับจะต้องตอบสนองความจำเป็นและความต้องการเหล่านี้ด้วยวิธีการที่เปลี่ยนแปลงไป ความท้าทายของอุตสาหกรรมนี้คือการค้นหาและตอบสนองความจำเป็นและความต้องการของลูกค้าในอนาคต ทำให้ได้แล้วคุณจะประสบความสำเร็จ ไม่ว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไรก็ตาม


ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)


--------------------------------------------------------------

ข้อมูลอ้างอิง:

“Sustainable Growth.” by Martin Rapaport. Retrieved July 13, 2021 from https://www.diamonds.net/News/NewsItem.aspx?ArticleID=66586.

*** กรุณาอ้างอิง “ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” ทุกครั้ง เมื่อนำบทความนี้ไปเผยแพร่ต่อ

ภาวะอัญมณี,อุตสาหกรรม,อัญมณีและเครื่องประดับ,GIT,การเติบโตอย่างยั่งยืน,อุตสาหกรรมเพชร,การส่งออก,การนำเข้า,เพชรเจียระไน,ดัชนี S&P