หน้าแรก / THTI Insight / ความเคลื่อนไหวอุตสาหกรรม / กัมพูชายกระดับอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0

กัมพูชายกระดับอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0

กลับหน้าหลัก
08.02.2564 | จำนวนผู้เข้าชม 291

กัมพูชายกระดับอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (The Asian Development Bank:ADB) กล่าวว่า กัมพูชาควรพิจารณาจัดทำแผนแม่บทการเปลี่ยนแปลงภาคอุตสาหกรรมในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อประเทศเพื่อให้สามารถเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) โดยมุ่งเน้นการลงทุนพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อรองรับตำแหน่งงานใหม่

รายงาน Reaping the Benefits of Industry 4.0 through Skills Development in High-Growth Industries in Southeast Asia: Insights from Cambodia, Indonesia, the Philippines, and Viet Nam ได้ทำการประเมินอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการเติบโต การจ้างงาน และ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จำนวน 2 อุตสาหกรรมในแต่ละประเทศ ผลจากการสำรวจนายจ้างพบว่า การพัฒนาด้านเทคโนโลยีจะช่วยให้ธุรกิจมีประสิทธิภาพและได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น

Woochong Um ผู้อำนวยการฝ่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ธนาคารพัฒนาเอเชีย กล่าวว่า อนาคตของงานเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาในเอเชียและแปซิฟิก ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้หลายๆ อาชีพถูกทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติ อาชีพใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องการนำเทคโนโลยีมาใช้ ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่จะทำการลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะในด้านต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้แรงงานพลัดถิ่นมีความสามารถที่เหมาะสมในการที่จะโยกย้ายไปทำงานในที่ใหม่และช่วยให้ผู้ที่กำลังมองหางานสามารถเข้าถึงงานที่มีคุณภาพเพื่อความเจริญก้าวหน้าในอนาคต

เทคโนโลยีที่ช่วยขับเคลื่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ทำให้ตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มลดลง แต่จะถูกชดเชยด้วยความต้องการที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การจ้างงานสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 39

Ramesh Subramaniam ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคารพัฒนาเอเชีย กล่าวว่า ผลการศึกษาชี้ให้เห็นแนวทางในอนาคตที่ชัดเจนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ยังต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายในเรื่องของการเคลื่อนย้ายของแรงงานพลัดถิ่นที่มีทักษะไม่ตรงกับความต้องการ เรามั่นใจว่าประเทศต่าง ๆ จะกำหนดนโยบายที่เหมาะสมและยกระดับทักษะแรงงานเพื่อเร่งการฟื้นตัวหลังการระบาดของโรคโควิด-19 เราต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

การศึกษาเสนอแนะให้มีการจัดฝึกอบรมและพัฒนาทักษะแรงงานให้พร้อมสำหรับการทำงานในอนาคต เรียกร้องให้มีการนำเทคโนโลยีมายกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรม การฝึกอบรมวิชาชีพ และการฝึกอบรมเพื่อรองรับเทคโนโลยีที่ช่วยขับเคลื่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 และการฝึกอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรเพื่อพัฒนาทักษะที่มีความยืดหยุ่นเพื่อเป็นการเสริมสร้างทักษะที่นอกเหนือจากการศึกษาในห้องเรียน

นอกจากนี้ยังเสนอแนะให้มีการใช้หลักสูตรเทคโนโลยีที่ช่วยขับเคลื่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ทั้งในห้องเรียนและการฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างความพร้อมของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมผ่านสถาบันฝึกอบรม จากการสำรวจสถาบันฝึกอบรมพบว่ามีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการฝึกอบรมอย่างจำกัด เช่น การนำเทคโนโลยีมาผสานระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงและความเสมือนจริงเข้าด้วยกัน (AR) การจำลองภาพเสมือนจริง (VR) และแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้มีการคุ้มครองทางสังคมสำหรับแรงงานไม่มีประสบการณ์ซึ่งเป็นผู้ที่เสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง รวมถึงแรงงานที่ต้องการพัฒนาทักษะให้สูงขึ้น จากข้อมูลของอุตสาหกรรมการให้บริการทางธุรกิจข้ามชาติ (IT-BPO) พบว่า งานธุรการในฟิลิปปินส์มีโอกาสถูกเลิกจ้างสูงสุดซึ่งส่วนใหญ่ผู้หญิงเป็นคนทำงานประเภทนี้ ขณะที่แรงงานหญิงในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มของกัมพูชามีโอกาสที่จะถูกเลิกจ้างสูงเช่นเดียวกัน

การระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล จากการศึกษาพบว่า บริษัทที่ใช้เทคโนโลยีที่ช่วยขับเคลื่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวจากภาวะวิกฤตเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็วและมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในอนาคต

รายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชาระบุว่า การส่งออกเครื่องนุ่งห่มลดลงร้อยละ 9 ในปี 2563 เนื่องจากผลกระทบของความต้องที่ลดลงจากการระบาดของโควิด-19 นายเฮง ซอร์ โฆษกกระทรวงแรงงานของกัมพูชา เผยว่าโรงงานสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มได้ประกาศปิดตัวลงราว 129 แห่ง ในปี 2563 ส่งผลกระทบต่อแรงงานจำนวน 71,000 ตำแหน่ง

ที่มา : Just-style: “Cambodia urged to upskill garment sector to Industry 4.0 level”, by Hannah Abdulla, January 27, 2021   

เรียบเรียงโดย : อิสเรศ วงศ์เสถียรโสภณ (ศูนย์ข้อมูลและดิจิทัลอุตสาหกรรม สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ)

ภาวะเศรษฐกิจสิ่งทอ,สิ่งทอ,เครื่องนุ่งห่ม,กัมพูชา,อุตสาหกรรม 4.0,ธนาคารพัฒนาเอเชีย,ADB