หน้าแรก / THTI Insight / ความเคลื่อนไหวอุตสาหกรรม / ความสำคัญของอาร์เซ็ปต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

ความสำคัญของอาร์เซ็ปต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

กลับหน้าหลัก
08.01.2564 | จำนวนผู้เข้าชม 1045

ความสำคัญของอาร์เซ็ปต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนได้มีการลงนามในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) หรือ อาร์เซ็ป แสดงให้เห็นถึงความพยายามของประเทศสมาชิกในการเจรจาร่วมกันมาตลอดระยะเวลากว่า 8 ปี และเป็นครั้งแรกที่จีนบรรลุข้อตกลงการลดภาษีทวิภาคี ในขณะที่สหรัฐฯได้ถอนตัวออกจากข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแปซิฟิก (TPP) ตั้งแต่ปี 2560

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ประกอบด้วยประเทศที่ร่วมลงนามทั้งหมด 15 ประเทศ ได้แก่ ประเทศในอาเซียน 10 ประเทศ คือ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม และประเทศในเอเชียแปซิฟิกอีก 5 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของความตกลงดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 30 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั่วโลก

ความสำคัญของความตกลงที่มีต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

Dr. Sheng Lu, assistant professor ที่ Department of Fashion and Apparel Studies, University of Delaware วิเคราะห์ว่า อาร์เซ็ปมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นอย่างมาก ตามสถิติขององค์การสหประชาชาติ ระบุว่า ในปี 2562 การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของประเทศสมาชิกอาร์เซ็ป ทั้ง 15 ประเทศ รวมกันมีมูลค่า 374 พันล้านเหรียญสหรัฐ (หรือคิดเป็นสัดส่วน 50% ของการค้าโลก) ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่ารวม 139 พันล้านเหรียญสหรัฐ (หรือคิดเป็นสัดส่วน 20% ของการค้าโลก)

ในขณะที่แบรนด์แฟชั่นหลายแห่งในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปยังคงจัดหาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตจากประเทศสมาชิกอาร์เซ็ป อาทิ ในปี 2562 สหรัฐอเมริกาได้นำเข้าเครื่องนุ่งห่มจากประเทศในอาร์เซ็ปมากถึงร้อยละ 60 โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2548 มากถึง 45% เช่นเดียวกับสหภาพยุโรปที่มีการนำเข้าเครื่องนุ่งห่มจากประเทศในอาร์เซ็ปร้อยละ 32 เพิ่มขึ้นจากปี 2548 มากถึง 28.1% 

ตารางที่ 1 แสดงเปอร์เซ็นต์การนำเข้าเครื่องนุ่งห่มจากประเทศสมาชิกอาร์เซ็ป

สมาชิกอาร์เซ็ปได้พัฒนาและจัดตั้งห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในภูมิภาค ภายในห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในอาร์เซ็ป ประเทศสมาชิกที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน จะเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบให้กับประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาค และประเทศกำลังพัฒนานั้นจะเป็นฐานการผลิตเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญเนื่องจากมีค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ และทำการส่งออกเครื่องนุ่งห่มสำเร็จรูปไปยังตลาดหลักของโลก

มูลค่าการค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในภูมิภาค พบว่าในปี 2562 ประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปมีการนำเข้าสิ่งทอจากประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก มากถึง 72.8% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2548 ร้อยละ 57.6 และมีการส่งออกสิ่งทอไปยังประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก ประมาณ 40% เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ร้อยละ 31.9

ตารางที่ 2 แสดงเปอร์เซ็นต์การค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของประเทศสมาชิกอาร์เซ็ป

อาร์เซ็ปช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในภูมิภาค 
สมาชิกอาร์เซ็ปตกลงที่จะเปิดเสรีการค้าโดยลดอัตราภาษีเป็น 0% สำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มภายในประเทศสมาชิกในกลุ่มทันทีหลังจากข้อตกลงมีผลบังคับใช้
อาร์เซ็ปใช้กฎแหล่งกำเนิดสินค้า (Rule of Origins) ที่มีความยืดหยุ่นสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม โดยสมาชิกของอาร์เซ็ปสามารถจัดหาเส้นด้ายหรือผ้าผืนจากที่ใดก็ได้ในโลก ส่วนผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าสำเร็จรูปก็ได้รับสิทธิประโยชน์จากการลดอัตราภาษีเป็น 0% ด้วยเช่นกัน ส่งผลให้โรงงานผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปจะได้รับสิทธิประโยชน์ได้ทันทีหลังจากข้อตกลงมีผลบังคับใช้
อาร์เซ็ปจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ในฐานะซัพพลายเออร์สิ่งทอรายใหญ่ของห่วงโซ่อุปทาน และช่วยเพิ่มบทบาทของอาเซียนให้เป็นผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปชั้นนำในภูมิภาค

สมาชิกอาร์เซ็ปแต่ละประเทศมีการกำหนดระยะเวลาในการลดอัตราภาษีที่แตกต่างกัน ซึ่งบางประเทศอาจใช้เวลานานถึง 21 ปี เช่น ญี่ปุ่น ส่วนประเทศเกาหลีใต้ มีการลดอัตราภาษีสำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่นำเข้ามาจากอาเซียน จีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ 

ผลกระทบของอาร์เซ็ปที่มีต่อประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก
 เมื่อมีการรวมกลุ่มการค้าภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป จะส่งผลให้ประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกจะถูกกีดกัน ไม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในภูมิภาค
 การลงนามในความตกลงจะช่วยเร่งการเจรจาในความตกลงเขตการค้าเสรีอื่น ๆ ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เช่น ความตกลงการค้าเสรีระหว่าง จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น
 อาร์เซ็ปสร้างความท้าทายในการบริหารประเทศของ โจ ไบเดน ในแง่ของการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เช่น การกลับไปเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP อีกครั้ง หรือเปิดการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีทวิภาคีฉบับใหม่

ที่มา : Just-style: “Why the new RCEP trade deal matters to apparel”, by Dr Sheng Lu, November 17, 2020   

เรียบเรียงโดย : อิสเรศ วงศ์เสถียรโสภณ (ศูนย์ข้อมูลและดิจิทัลอุตสาหกรรม สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ)

กฎระเบียบสิ่งทอ,สิ่งทอ,เครื่องแต่งกาย,อาร์เซ็ป,RCEP,อาเซียน,เอเชียแปซิฟิก,FTA,เขตการค้าเสรี