หน้าแรก / THTI Insight / ความเคลื่อนไหวอุตสาหกรรม / อุตสาหกรรมรองเท้าของกัมพูชาเรียกร้องให้สหภาพยุโรปยืดการถอดถอนสิทธิพิเศษทางการค้า

อุตสาหกรรมรองเท้าของกัมพูชาเรียกร้องให้สหภาพยุโรปยืดการถอดถอนสิทธิพิเศษทางการค้า

กลับหน้าหลัก
17.08.2563 | จำนวนผู้เข้าชม 563

อุตสาหกรรมรองเท้าของกัมพูชาเรียกร้องให้สหภาพยุโรปยืดการถอดถอนสิทธิพิเศษทางการค้า

อุตสาหกรรมรองเท้าของกัมพูชาเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยุโรปเลื่อนการเพิกถอนสิทธิพิเศษบางส่วนในการเข้าถึงตลาดสหภาพยุโรปภายใต้สิทธิพิเศษทางการค้าสูงสุดจากประเทศที่พัฒนาแล้ว (EBA) โดยอ้างว่าการเพิกถอนสิทธิดังกล่าวจะทำให้ผู้ซื้อเปลี่ยนการจัดหาไปยังประเทศอื่น

สมาคมรองเท้ากัมพูชา (CFA) ระบุว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อตำแหน่งงานในภาคการผลิตรองเท้า 30,000-40,000 ตำแหน่ง ซึ่งเมื่อสิทธิพิเศษถูกเพิกถอนจะส่งผลกระทบต่อตำแหน่งงานเป็นวงกว้าง

กัมพูชาถูกถอดถอนสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า รองเท้า สินค้าด้านการท่องเที่ยวทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม และแสดงความกังวลต่อสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนและแรงงาน หลังจากวันดังกล่าวผลิตภัณฑ์จะต้องเสียภาษีในอัตราเท่าเทียมกับประเทศอื่น ๆ (MFN) ที่เป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO)

เมื่อคณะมนตรียุโรปเริ่มกระบวนการพิจารณาในปี 2562 และออกประกาศเพิกถอนการให้สิทธิ EBA ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 นั้นสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเกินกว่าที่จะคาดการณ์ได้

นาย Tony Tung รองนายกสมาคมกล่าวเพิ่มเติมว่า ผลกระทบของการแพร่ระบาดยังไม่สามารถคาดเดาได้ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงขอเลื่อนการถอดถอนในวันที่ 12 สิงหาคม

จากการสำรวจของ สมาคมรองเท้ากัมพูชา (CFA) พบว่า บริษัทสมาชิกมีปริมาณการผลิตลดลงเฉลี่ยร้อยละ 20-40 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 เมื่อเทียบกับปี 2562

ในขณะที่การคาดการณ์ปริมาณการผลิตในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 พบว่ามีโรงงานที่เป็นสมาชิกเพียงแห่งเดียวที่รายงานว่ามีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี โดยโรงงานส่วนใหญ่มีการคาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตจะลดลงร้อยละ 40-60 

จากปริมาณคำสั่งซื้อในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 โรงงานที่เป็นสมาชิกร้อยละ 70 วางแผนที่จะลดการจ้างงานลงหรือระงับการผลิต ส่วนที่เหลือร้อยละ 30 ได้มีการลดการจ้างงานแล้วจากปริมาณการผลิตในช่วงครึ่งปีหลังที่ลดลง

“หากสามารถควบคุมการระบาดได้เร็ว ก็คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะทยอยฟื้นตัวกลับมาในช่วงฤดูร้อนปี 2564 อย่างไรก็ตามหากไม่มีวัคซีนป้องกันโควิด-19 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ใน 2 ปีข้างหน้า” นาย Tony Tung กล่าว

การเรียกร้องครั้งล่าสุดเกิดขึ้นหลังจากสมาคมธุรกิจในหมวด เสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าด้านการท่องเที่ยวและเชิงพาณิชย์ของกัมพูชาเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปพิจารณาการตัดสินใจอีกครั้ง

สมาคมรองเท้ากัมพูชา (CFA) กล่าวว่า คณะผู้แทนสหภาพยุโรปให้ความช่วยเหลือทวิภาคีต่อแรงงานกัมพูชาที่ได้รับผลกระทบต่อการถอดถอนสิทธิพิเศษทางการค้า EBA 

ความช่วยเหลือจากรัฐบาลต่อแรงงานชาวกัมพูชาที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกสิทธิการค้า คือ การได้รับเงินช่วยเหลือ 40 เหรียญสหรัฐต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน หรือประมาณสัปดาห์ละ 1 0 เหรียญสหรัฐ

ข้อมูลที่ทางสมาคมรองเท้ากัมพูชา (CFA) ได้รับเพิ่มเติม ระบุว่า สหภาพยุโรปได้จัดเตรียมโครงการช่วยเหลือด้านสุขภาพมูลค่า 4 ล้านยูโร แก่กัมพูชาเพื่อแก้ไขปัญหาโควิด -19 รวมถึงโครงการสนับสนุนด้านบุคลากร มูลค่า 52 ล้านยูโร และ 387 ล้านยูโรเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

สำหรับเงินสนับสนุนทางเศรษฐกิจจำนวน 387 ล้านยูโร ที่ได้รับนั้นรัฐบาลกัมพูชามุ่งเน้นในด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า และเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นโครงการที่มีความสำคัญ แต่โครงการดังกล่าวไม่ได้เป็นการช่วยเหลือแรงงานในอุตสาหกรรมรองเท้าและครอบครัวของพวกเขาที่ได้รับผลกระทบจากการเพิกถอนสิทธิพิเศษทางการค้าในครั้งนี้โดยตรง

การอุทธรณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อสหภาพยุโรปยังคงเปิดกว้างต่อการทบทวนการตัดสิทธิพิเศษทางการค้าดังกล่าว หากกัมพูชาดำเนินการแก้ไขสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศ

องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนชั้นนำ 33 องค์กรเรียกร้องให้รัฐบาลในออสเตรเลีย แคนาดา ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา แสดงจุดยืนเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชน

ที่มา : Just-style: “Cambodia shoe sector in fresh plea to EU as trade loss looms”, by Beth Wright, July 31, 2020

เรียบเรียงโดย : อิสเรศ วงศ์เสถียรโสภณ (ศูนย์ข้อมูลและดิจิทัลอุตสาหกรรม สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ)

กฎระเบียบเครื่องหนัง, เครื่องหนัง, รองเท้า, สหภาพยุโรป, สิทธิพิเศษ, EBA, แรงงาน