หน้าแรก / THTI Insight / ข่าวรายวัน / ‘ไนซ์กรุ๊ป’ ปรับตัวรับส่งออกเสื้อกีฬาช็อก หลังการแข่งขันกีฬาระดับโลก เลิก-เลื่อน

‘ไนซ์กรุ๊ป’ ปรับตัวรับส่งออกเสื้อกีฬาช็อก หลังการแข่งขันกีฬาระดับโลก เลิก-เลื่อน

กลับหน้าหลัก
04.09.2563 | จำนวนผู้เข้าชม 1014

‘ไนซ์กรุ๊ป’ ปรับตัวรับส่งออกเสื้อกีฬาช็อก หลังการแข่งขันกีฬาระดับโลก เลิก-เลื่อน

ธุรกิจส่งออกเสื้อผ้ากีฬาสำเร็จรูปรายใหญ่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่าง “สาหัส” เลยก็ว่าได้ เนื่องจากการแข่งขันกีฬาระดับโลกในหลายรายการจำเป็นต้องยกเลิก-เลื่อน การแข่งขันออกไปด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยในสถานการณ์เช่นนี้ ส่งผลกระทบให้แบรนด์เสื้อผ้ากีฬา ที่วางแผนการจำหน่ายและคำสั่งผลิตต่างต้องเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง


ประสพ จิรวัฒน์วงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไนซ์กรุ๊ป ผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้ากีฬาสำเร็จรูป เล่าให้ฟังว่า บริษัทถือเป็นผู้ผลิตเสื้อผ้ากีฬาสำเร็จรูปให้กับ 2 แบรนด์ระดับโลกอย่าง ไนกี้ (Nike) และอาดิดาส (Adidas) ซึ่งผลิตมาให้ด้วยระยะเวลายาวนานกว่า 30 ปี (เริ่มตั้งแต่ปี 2529) โดยมีฐานการผลิตอยู่ใน 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย จีน กัมพูชา และเวียดนาม มีพนักงานทั้งหมดราว 2.5 หมื่นคน และมีกำลังการผลิตรวมกว่า 60 ล้านตัว โดยในปี 2562 ที่ผ่านมามีรายได้รวมอยู่ที่ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


สถานการณ์โควิด-19 ถือเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยคาดคิดว่าจะรุนแรงขนาดนี้ ซึ่งเกิดขึ้นในทุกอุตสาหกรรม โดยนับตั้งแต่เริ่มต้นทำงานและดำเนินธุรกิจมาไม่เคยเจอเหตุการณ์ใดรุนแรงและยาวนานเช่นนี้มาก่อน โดยในปีนี้นอกเหนือจากเหตุการณ์ดังกล่าวแล้วยังมีอีกหลายเหตุการณ์ อาทิ เศรษฐกิจ การเมือง สงครามการค้า ก่อการร้าย และภัยพิบัติทางธรรมชาติ


อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะเกิดสถานการณ์โควิด-19 บริษัทวางแผนเติบโตในปี 2563 ไว้ที่ 20% จากปกติอัตราเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 15% ต่อปี แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ตลาดการค้าขายและห้างสรรพสินค้าต่างๆ ทั่วโลก ทั้ง จีน สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น หยุดชะงักทั้งหมด นอกจากนั้น ในด้านฐานการผลิตวัตถุดิบที่มีอยู่ในประเทศจีนและไต้หวันได้รับผลกระทบเช่นกัน ส่งผลต่อการส่งวัตถุดิบในการผลิตมายังประเทศไทย เวียดนาม จีน และกัมพูชา


ขณะเดียวกัน การจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลกในรายการต่างๆ อาทิ การแข่งขันบาสเกตบอล เอ็นบีเอ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และการแข่งขันฟุตบอลในลีกต่างๆ มีการยกเลิกและเลื่อนการแข่งขันทั้งหมด ซึ่งส่งผลกระทบค่อนข้างรุนแรงต่อการผลิตเสื้อผ้ากีฬาสำเร็จรูปที่ถูกยกเลิกออร์เดอร์ รวมถึงเลื่อนการส่งออกทั้งหมด โดยทุกคนไม่สามารถคาดการณ์ตลาดได้หลังจากนี้ จากปกติที่จะมีการคาดการณ์ล่วงหน้าถึงแผนการผลิตของบริษัทผู้สั่งซื้อ


จากสถานการณ์ดังกล่าว บริษัทจึงตั้งทีมเฉพาะกิจเพื่อประสานงานการรับข้อมูลและปรับแผนแก้ไขสถานการณ์ใน 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่


การเงิน – กระแสเงินสดเป็นอันดับต้นๆ ที่ต้องดูแล โดยต้องมาดูว่าการเงินที่จะต้องเตรียมกับวิกฤติที่เกิดขึ้นต้องทำอย่างไร โดยการลงทุนที่วางไว้ก็ต้องระงับจากเดิมที่จะขยาย และ แผนการขยายที่ทำไปแล้วและหยุดไม่ได้ต้องกันเงินไว้เพื่อเตรียมเงินสดให้พอ และคุยกับสถาบันการเงิน การจัดเตรียมเงินสดเพื่อใช้จ่ายในด้านการดำเนินงานไม่ขาดตกบกพร่อง


การดูแลพนักงาน – บริหารให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด เพราะปัญหาคงเกิดแน่ ซึ่งในส่วนนี้อันดับแรกคือ หยุดการทำงานล่วงเวลา (โอที) ที่เคยมีอยู่ และหยุดรับพนักงานเพิ่ม โดยถือเป็นการลดกำลังการผลิตไปในตัว


การปรับความยืดหยุ่นคล่องตัว – เพื่อให้สอดคล้องกับออร์เดอร์ที่จะเปลี่ยนแปลงไป เช่น ลดเวลาทำงานลงบางส่วน เช่น เคยทำงาน 6 วัน/สัปดาห์ เหลือ 4 วัน/สัปดาห์ เป็นเรื่องการบริหารส่วนของพนักงาน และพยายามไม่เลิกจ้างพนักงาน ซึ่งการเลิกจ้างจะเป็นวิธีสุดท้ายที่จะทำ


สำหรับในช่วงเดือน มิ.ย. เป็นต้นมา สถานการณ์เริ่มมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยลูกค้าเริ่มให้นโยบายความชัดเจน ซึ่งเป็นโอกาสที่บริษัทจะนำข้อมูลดังกล่าวมาบริหารสถานการณ์บริษัท


ประสพ เล่าให้ฟังต่อว่า รายได้ในปีนี้จากเดิมที่ตั้งไว้ 511 ล้านดอลลาร์สหรัฐ น่าจะลดลงราว 30% เหลือ 356 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือลดลง 16% จากปีก่อน


“ตอนนี้จะทำอย่างไรที่จะนำธุรกิจผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้ โดยเราเชื่อว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นหนักเท่าไร โอกาสเติบโตหลังจากนี้ก็มีเท่านั้น”


ด้านแผนระยะกลาง 3 ปีจากนี้ มองว่าการเติบโตทางธุรกิจโดยคิดคำนวณจากปีนี้เป็นฐานจะอยู่ที่ราว 15-20% โดยจะเติบโตมากกว่าหรือน้อยกว่านั้นจะมาจากปัจจัยการแพร่ระบาดว่าจะมีระลอก 2 หรือ 3 อีกหรือไม่ ซึ่งถ้าหากไม่มีวิกฤติใดๆ เพิ่มติม เชื่อว่าจะสามารถเป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าว


นอกจากนี้ อยากให้รัฐบาลพิจารณาการเจรจาด้านกฎหมายทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก  ปัจจุบันประเทศไทยเสียเปรียบในส่วนนี้ เนื่องจากขาดการเจรจาระหว่างประเทศด้วยภาวะทางการเมืองที่เกิดการปฏิวัติ ทำให้ไม่มีการเจรจาใดๆ


สุดท้าย ธุรกิจเสื้อผ้าสิ่งทอในฐานะที่บริษัทเป็นซัพพลายเชนพาร์ตเนอร์ให้กับแบรนด์ใหญ่ของโลก จะต้องมีการปรับตัวใน 4 ด้านด้วยกัน เพื่อไม่ให้หลุดจากเวทีและรักษาการเป็นพันธมิตรของแบรนด์ระดับโลก ได้แก่


1. นวัตกรรม

2. ดิจิทัล

3. การพัฒนาบุคลากร

4. ความยั่งยืนบริการธุรกิจ


ทั้งนี้ สิ่งสำคัญอีกส่วนหนึ่งคือการสื่อสารเพื่อให้พนักงานทราบถึงสถานการณ์ที่บริษัทเจออยู่ในปัจจุบัน รวมถึงการเรียนรู้เรื่อง New Normal และการใช้เทคโนโลยีที่เป็นพื้นฐานการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ


ที่มา : https://www.businesstoday.co/business/04/09/2020/49315/

ข่าวรายวัน, สิ่งทอ, ไนซ์กรุ๊ป, เสื้อกีฬา, ส่งออก, ไนกี้, Nike, อาดิดาส, Adidas, โควิด-19