หน้าแรก / THTI Insight / องค์ความรู้ / New Normal ที่มีต่อธุรกิจแฟชั่นภายหลังการแพร่ระบาดสิ้นสุด

New Normal ที่มีต่อธุรกิจแฟชั่นภายหลังการแพร่ระบาดสิ้นสุด

กลับหน้าหลัก
13.05.2563 | จำนวนผู้เข้าชม 3622

New Normal ที่มีต่อธุรกิจแฟชั่นภายหลังการแพร่ระบาดสิ้นสุด

จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า หรือ COVID-19 ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายธุรกิจและรวมถึงในธุรกิจแฟชั่น นำไปสู่ New Normal ในรูปแบบที่ใหม่ที่มีความหลากหลาย โดยอาศัยปัจจัยพื้นฐานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนในการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมของผู้บริโภค ระบบการผลิต วัสดุหรือวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ระบบการจำหน่าย รวมถึงกระบวนการบริหารจัดการตลอด supply chain ถือเป็นการ disrupted ของธุรกิจแฟชั่นด้วยกระแสของเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่อย่างสมบูรณ์แบบ

 

และทันทีที่การระบาดสิ้นสุดลงคาดการณ์ว่า ธุรกิจแฟชั่นในหลากหลายแบรนด์ต่างจะมุ่งเน้นลงทุนในระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับด้านเทคโนโลยี และแน่นอนว่าย่อมจะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจแฟชั่นรูปแบบใหม่ในอนาคต โดยแบรนด์ต่าง ๆ ที่จะประสบความสำเร็จต่อการปรับเปลี่ยนนั้น ต่างต้องยอมรับรูปแบบที่จะเกิดขึ้นใหม่ใน 3 ด้านด้วยกัน คือ เทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค และรูปแบบการดำเนินธุรกิจ (วิธีการทำงาน/การจ้างงาน) 

 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในช่วงเกิดวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดนั้น พบว่า ในสายงานปฏิบัติการออกแบบและวิจัยของ Adidas ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานในรูปแบบใหม่ โดยการเพิ่มสัดส่วนการทำงานในระยะไกล หรือ remote working สูงถึงร้อยละ 84 ขณะที่การประชุมผ่าน VDO conference อยู่ที่ร้อยละ 79 และเพิ่มชั่วโมงการทำงานให้มีความยึดหยุ่น (flexible working) ขยับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 58 ซึ่งจะเห็นว่าการลงทุนในเรื่องของเทคโนโลยีจะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยในการสื่อสารในองค์กรเกิดประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นและรองรับรูปแบบการเปลี่ยนของการดำเนินธุรกิจที่มีความท้าทายใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น

 

Platform เฉพาะสำหรับธุรกิจแฟชั่น (อาทิ การนำเทคโนโลยี 3D มาใช้ในการออกแบบ หรือการจัดแสดงผลงานแฟชั่นโชว์ในรูปแบบเสมือนจริง หรือ Digital showroom หรือผ่านการใช้ Livestream และรวมถึงการใช้ AI) จะเห็นว่า ในช่วงเวลาของการแพร่ระบาดเกิดขึ้น Platform ในรูปแแบต่าง ๆ ได้รับความสนใจและเป็นที่ต้องการของผู้ใช้เป็นจำนวนมาก โดยในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม 2020 พบว่า มียอดคำสั่งซื้อการใช้งาน Platform online ที่เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 (Zoom VDO communication ที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าต่อวันตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโรค) 

 

“แบรนด์แฟชั่นจะต้องปรับให้เกิดความยืดหยุ่นใน supply chain มากขึ้น โดยลดเวลาในการออกสู่ตลาดและปรับตัวให้เข้ากับแนวโน้มและความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น นั่นคือ ผู้ออกแบบ ผู้ผลิต และผู้จำหน่ายสินค้า จะต้องย่นระยะเวลาในกระบวนการออกแบบ การผลิต ไปจนส่งกระบวนการส่งมอบให้กับลูกค้าใช้ระยะเวลาที่สั้นลง โดยอาศัย Platform เฉพาะสำหรับธุรกิจแฟชั่นเป็นตัวขับเคลื่อน”

 

การผลิตอัจฉริยะ ในรูปแบบของ Nearshoring คือ การย้ายฐานการผลิตกลับมาใกล้ ๆ ประเทศของตนเอง กำลังเป็นทางเลือกที่ผู้ผลิตให้ความสนใจ เนื่องจากเมื่อรวมราคาค่าขนส่งและนำเข้า บวกกับระยะเวลาการขนส่งสินค้า สามารถลดต้นทุนการผลิตได้คุ้มกว่า ทั้งยังสามารถลดมลภาวะ เพราะผู้ผลิตสามารถผลิตสินค้าได้ทันกับความต้องการของตลาด จึงช่วยลดขยะจากเสื้อผ้าเหลือทิ้ง โดยคาดการณ์ว่า ภายในปี พ.ศ. 2568 เสื้อผ้าที่รักษาสิ่งแวดล้อมจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการซื้อเลือกเสื้อผ้าของผู้บริโภคในอนาคต

 

“การเพิ่มขึ้นของ Digital showroom และการดำเนินธุรกิจในรูปแบบ B2B ซึ่งสามารถติดตามข้อมูลแบบ update ได้ตลอดเวลา ทำให้ลดขั้นตอนการซื้อขาย เกิดการซื้อขายที่สะดวกรวดเร็ว เพราะข้อมูลต่าง ๆ อยู่บน social network และเกิดการสื่อสารกับธุรกิจอื่น ๆ ที่อาจจะมีการติดต่อธุรกิจแบบ B2B ด้วยเช่นกัน และยังรวมถึงเป็นการสร้างวัฒนธรรมของธุรกิจให้ปรากฏต่อสาธารณะง่ายขึ้น และง่ายต่อการขยายธุรกิจแบบ networking”

 

จะเห็นว่าธุรกิจแฟชั่นของแบรนด์ต่าง ๆ จะสร้างสรรค์นวัตกรรมของผลิตภัณฑ์จากพื้นฐานแนวโน้มของพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นสำคัญ ในขณะเดียวกันกระแสความยั่งยืนสำหรับการดำเนินธุรกิจ จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางการในสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค ถึงแม้ว่าจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ได้ส่งให้เกิดภาวะทางเศรษฐกิจที่ถดถอย กระทบไปยังภาคการผลิตที่ต้องคำนึงถึงต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น หากแต่การดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความยั่งยืน ยังคงเป็นประเด็นความท้าทายและเป็นโอกาสที่สำคัญสำหรับธุรกิจแฟชั่น ในปี 2020

 

ธุรกิจแฟชั่นจึงจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญของการพัฒนารูปแบบการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และปรับให้มีความเหมาะสมกับในการดำเนินธุรกิจภายหลังที่วิกฤตการณ์สิ้นสุด ดังนั้น New Normal ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อระบบหรือธุรกิจแฟชั่นภายหลังการแพร่ระบาดสิ้นสุดจะประกอบด้วย

1. การบริหารจัดการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของ supply chain รูปแบบใหม่ที่มีรอบระยะเวลาที่สั้นลง และ/หรือความร่วมมือระหว่างกันของธุรกิจ เพื่อขจัดข้อจำกัดในการดำเนินงานและเป็นการจัดหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ ๆ ร่วมกัน

2. การสร้างยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจแฟชั่นบนพื้นฐานของคววามโปร่งใสตรวจสอบได้ โดยการนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้

3. การสร้างความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจตลอด supply chain และตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้อย่างแม่นยำภายใต้ระยะเวลาที่จำกัด โดยอาศัยแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคเป็นสำคัญ

4. พฤติกรรมการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค จะกลายเป็นตัวแปรหลักในการกำหนดทิศทางระบบทางการตลาดในอนาคต

5. ถึงแม้กระแสด้านเทคโนโลยีจะส่งผลต่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจแฟชั่นในปัจจุบัน แต่เชื่อมั่นว่า กระบวนการขั้นพื้นฐานเพื่อการออกแบบสร้างสรรค์ผลงานที่แสดงออกถึงความสวยงาม จะยังคงอยู่ในการดำเนินธุรกิจแฟชั่นในอนาคต

6. Local brand จะกลับมามีบทบาทสำคัญในระบบแฟชั่นของแต่ละประเทศ

7. โมเดลของความต้องการของตลาด หรือ Demand driven จะถูกขับเคลื่อนด้วยองค์ประกอบหลัก 3 ส่วนคือ เทคโนโลยี 3D, การจัดแสดงผลงานในรูปแบบเสมือนจริง (virtual sampling) และระบบปฏิบัติการด้วย AI

 

ที่มา : The Business of Fashion : BOF

เรียบเรียง : ศูนย์ข้อมูลและดิจิทัลอุตสาหกรรม สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ

 

แนวโน้มแฟชั่น, Fashion, covid-19, ธุรกิจ, แฟชั่น, New Normal, supply chain, innovation, เทคโนโลยี, นวัตกรรม, Technology, FIU, ปี 2563