หน้าแรก / THTI Insight / ความเคลื่อนไหวอุตสาหกรรม / เทคโนโลยีบล็อคเชนติดตามผ้าแคชเมียร์ตลอดซัพพลายเชนในมองโกเลีย

เทคโนโลยีบล็อคเชนติดตามผ้าแคชเมียร์ตลอดซัพพลายเชนในมองโกเลีย

กลับหน้าหลัก
24.01.2563 | จำนวนผู้เข้าชม 1107

เทคโนโลยีบล็อคเชนติดตามผ้าแคชเมียร์ตลอดซัพพลายเชนในมองโกเลีย

เทคโนโลยีบล็อคเชนถูกนำมาใช้ในการติดตามแหล่งกำเนิดของผ้าแคชเมียร์ในมองโกเลีย ตั้งแต่การตัดขนที่บ้านของเกษตรกรจนถึงกระบวนการแปรรูปในเมืองอูลานบาตอร์ (เมืองหลวงของมองโกเลีย) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นที่ยั่งยืนให้กับระบบซัพพลายเชนของผ้าแคชเมียร์

โครงการต้นแบบการนำบล็อคเชนเข้ามาใช้เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ที่พัฒนาแพลตฟอร์มโดย Convergence.tech สตาร์ทอัพสัญชาติแคนนานาดา   

เกษตรกรชาวมองโกเลียต้องเผชิญกับสภาพการทำงานที่กดดันและมีรายได้ที่ไม่แน่นอนจนเกิดภาวะหนี้สินกับพ่อค้าคนกลางที่มีการเบิกจ่ายเงินล่วงหน้า อันเป็นผลมาจากการที่ไม่มีข้อตกลงด้านความยั่งยืนและกระบวนการดูแลตลอดซัพพลายเชน ส่งผลให้ทุ่งหญ้าในการเลี้ยงแพะแคชเมียร์เกิดการเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมแฟชั่นทั่วโลก

นอกจากนี้ภาคอุตสาหกรรมต้องการความยั่งยืนและการตรวจสอบย้อนกลับได้เนื่องจากประสบปัญหาหลายประการ เช่น คุณภาพของผ้าแคชเมียร์ที่ลดลงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในประเทศ ความต้องการการจัดหาที่เป็นธรรมและยั่งยืนจากทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้น และการรับรองสินค้าที่ดำเนินการด้านความยั่งยืน

ด้วยเทคโนโลยีที่ง่ายช่วยให้เกษตรกรชาวโมโกเลียสามารถติดตามแพะแคชเมียร์ของพวกเขาได้อย่างแม่นยำ  Convergence ได้พัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะแคชเมียร์ได้เข้ามาลงทะเบียนก้อนขนแพะแคชเมียร์ซึ่งจะแสดงจุดบนแผนที่ ก้อนขนแพะแคชเมียร์จะถูกแพ็กใส่ถุงและติดตั้งแท็ก RFID ความถี่สูงเพื่อใช้ในการติดตามข้อมูลเพื่อตรวจสอบตำแหน่งของผลิตภัณฑ์

เทคโนโลยีนี้ช่วยลดความเสี่ยงจากกระบวนการทำงานที่อาจจะเกิดข้อผิดพลาดและใช้เวลานานของมนุษย์

ซึ่งประโยชน์ของเทคโนโลยีบล็อคเชนจะช่วยให้สามารถตรวจสอบเส้นทางและวงจรการผลิตทั้งหมดได้อย่างแม่นยำ ช่วยให้ผู้ซื้อสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของผ้าแคชเมียร์ได้อย่างมั่นใจ และสร้างมูลค่าของตลาดที่โยงผู้ซื้อที่สนใจในความยั่งยืนของธรรมชาติมากยิ่งขึ้น ตามแนวทางการปฏิบัติของผู้ขายที่ยึดมั่นในความยั่งยืนเช่นกัน

โครงการนี้ส่งผลให้มีการติดตามผ้าแคชเมียร์เพิ่มขึ้นจำนวนมากในพื้นที่ 3 จังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของมองโกเลีย นับตั้งแต่กระบวนการตัดขนที่บ้านของเกษตรกร ในปัจจุบันมีการติดตามขนแคชเมียร์ราว 150 ก้อนหรือจำนวนกว่า 5 ตัน

ข้อมูลที่ได้จากโครงการนี้มีประโยชน์อย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบริษัทเครื่องแต่งกายลักชัวรีที่ต้องการจัดหาขนแคชเมียร์อย่างยั่งยืน

Chami Akmeemana ซีอีโอของ Convergence.tech กล่าวว่า “ชุมชนเร่ร่อนเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของชาวมองโกเลีย แต่กระนั้นรายได้ของชุมชนก็ยังมีความผันผวนและไม่แน่นอน การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีบล็อคเชนที่เปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมแคชเมียร์นั้นจะเป็นประโยชน์มากมายต่อผู้เลี้ยงสัตว์มองโกเลีย รวมถึงผู้ซื้อและผู้ขาย”

ทั้งนี้มองโกเลียผลิตแคชเมียร์ได้ราว 40% เพื่อส่งออกไปทั่วโลก แต่ทว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงแคชเมียร์ที่มีศักยภาพในการส่งออกกลับมีสัดส่วนน้อยกว่า 3.4% ของผู้เลี้ยงทั้งหมด ซึ่งมีสาเหตุมาจากการทำเหมืองแร่ ทำให้ในปี 2561 รัฐบาลมองโกเลียจึงได้เปิดตัวโครงการแคชเมียร์แห่งชาติ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะแคชเมียร์อีกครั้ง

ที่มา : Just-style: “Blockchain pilot tracks Mongolian cashmere value chain”, by Hannah Abdulla, January 15, 2020   

เรียบเรียงโดย : อิสเรศ วงศ์เสถียรโสภณ (ศูนย์ข้อมูลและดิจิทัลอุตสาหกรรม สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ)

เทคโนโลยีนวัตกรรมสิ่งทอ, เครื่องนุ่งห่ม, บล็อคเชน, ผ้าแคชเมียร์, ซัพพลายเชน, มองโกเลีย