หน้าแรก / นวัตกรรม / การปรับปรุงคุณภาพเส้นใยพืช

การปรับปรุงคุณภาพเส้นใยพืช

หนังสือเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเส้นใยธรรมชาติจากพืช มีเป้าประสงค์ให้เป็นหนังสือวิชาการให้ความรู้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสิ่งทอและผู้สนใจในเรื่องของการนำวัตถุดิบทางเกษตรมาพัฒนาเป็นเส้นใยธรรมชาติสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 เล่ม คือ 1. การปรับปรุงคุณภาพเส้นใยพืช 2. เซลลูโลสประดิษฐ์จากชานอ้อย 3. การปั่นด้ายใยสั้นชนิดยาวจากพืช และ 4. ผ้าไม่ทอจากใยธรรมชาติ

คำนำ
 
การปรับปรุงคุณภาพเส้นใยพืช (Refining Plant Fiber) เป็นขั้นตอนสำคัญในการแก้ไขปัญหาการนำเส้นใยธรรมชาติมาใช้ประโยชน์  ซึ่งเนื้อหาเกี่ยวกับการปรับปรุงคุณภาพเส้นใยพืช  มุ่งเน้นการให้ความรู้และแนวทางในการพัฒนาคุณภาพสิ่งทอต้นน้ำที่มีสมบัติเฉพาะตัวของเส้นใยที่ธรรมชาติสร้างขึ้น เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มีจุดแข็งของสินค้าสิ่งทอและแฟชั่นในอนาคต สามารถสร้างสรรค์คุณค่าและความแตกต่างของสิ่งทอให้มีความหลากหลาย  ในการปรับปรุงคุณภาพเส้นใย จะช่วยให้ได้เส้นด้ายและผืนผ้าที่มีคุณภาพและแก้ไขปัญหาการผลิตเส้นด้ายจากเส้นใยพืช  กรรมวิธีที่ใช้ในการพัฒนาคุณภาพเส้นใยพืชประกอบด้วย กระบวนการทางเชิงกล กระบวนการทางเคมี กระบวนทางชีวภาพ และกระบวนการทางเชิงกลเคมี  แต่ละกระบวนการจะช่วยให้เส้นใยพืช  มีขนาดเล็กลงหรือมีความละเอียดและอ่อนนุ่มขึ้น และ จะช่วยให้องค์ประกอบทางเคมีและสมบัติทางกายภาพของเส้นใยมีคุณภาพและใช้ประโยชน์ได้ดีขึ้น  นอกจากนี้ในด้านการใช้ประโยชน์เส้นใยพืชที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพ  มีกรณีศึกษาหลายกรณี อาทิ การพัฒนาเสื้อผ้าจากเส้นใยจากใบข้าวโพด การพัฒนาเส้นด้ายจากเส้นใยเปลือกมะพร้าว และเส้นด้ายจากเส้นใยใบสับปะรดผสมฝ้าย  ซึ่งถือเป็นการเพิ่มคุณภาพและสมบัติที่พึงประสงค์ให้กับเส้นด้ายตามลักษณะและสมบัติของเส้นใย  สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม  และสมบัติเด่น  ผิวสัมผัส  อัตลักษณ์หรือคุณค่า และลดต้นทุนการผลิต สามารถนำมาต่อยอดการออกแบบและสร้างสรรค์สิ่งทอ อาทิ ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าแฟชั่น  หมวก  กระเป๋า  รองเท้า  และผลิตภัณฑ์เคหะสิ่งทอ ยิ่งไปกว่านั้น การนำเส้นใยไปใช้ประโยชน์อย่างมีแนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มีคุณสมบัติพิเศษ (functional textiles) และสิ่งทอเทคนิค  (technical textiles)  ถือเป็นประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้วัสดุธรรมชาติ  สร้างจิตสำนึกต่อธรรมชาติ  ซึ่งรวมไปถึงการมีจิตสำนึกต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่อาจจะได้รับผลกระทบ  พืชเศรษฐกิจในอนาคตอาจเป็นพืชเพื่อการผลิตสิ่งทอป้องกันเชื้อโรค สิ่งทอเพื่อการกีฬา สิ่งทอเพื่อสุขภาพ และผลิตภัณฑ์สิ่งทอทางเทคนิค  อีกทั้งเพื่อการผลิตสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของตลาด  ถือเป็นแนวทางการพัฒนาเส้นใยธรรมชาติสู่ความเป็นผู้นำสิ่งทออาเซียน  ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอสู่เชิงพาณิชย์  และต่อยอดออกแบบสิ่งทอสร้างสรรค์มุ่งสู่ผลงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนต่อไป
 
 
สาคร ชลสาคร
สาขาวิชาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม  คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
กันยายน  2559